ผู้ชมทั้งหมด 2,343
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย) โดยช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2561 หลังจากได้ลงนามในสัญญารับเหมาก่อสร้างช่วงต้นปี 2560 กำหนดเปิดให้บริการเดินรถในปี 2567
ส่วนสายสีส้มตะวันตก ช่วงช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนั้นล่าสุดคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รฟม.จึงต้องมาเริ่มดำเนินการขั้นตอนการประกวดราคาใหม่ โดยในเบื้องต้นทางรฟม.ประกาศว่า กระบวนการคัดเลือกเอกชนฯ ใหม่ จะสามารถดำเนินการคัดเลือกเอกชนให้แล้วเสร็จได้ภายใน 6 – 8 เดือน
สำหรับโครงการรถสายสีส้มนั้นรฟม.เปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP net cost 30 ปี เงินลงทุน 128,128 ล้านบาท ก่อสร้างช่วงตะวันตก “บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ” กับจัดหาระบบ ขบวนรถไฟฟ้า แลกกับการรับสัมปทานเดินรถตลอดสาย โดย รฟม.ออกค่าเวนคืน 14,621 ล้านบาท สนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินค่างานโยธา 96,012 ล้านบาท
กลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ซึ่งมีบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ให้บริการเดินรถตั้งเป้าหมายคว้าโครงการนี้ เพราะตลอดแนวเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีส้มมีเชื่อมกับรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง แต่ก็เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายเหลือง-สีชมพู และสายสีเขียวของกลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ด้วยเช่นกัน และยังเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ด้วย โดยสายสีส้มทั้งเส้นเมื่อเปิดให้บริการในปี 2568 คาดว่า มีผู้โดยสารมาใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 110,000 เทียวคนต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้เนื่องจากเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าหลายสี
ดังนั้นยักษ์ใหญ่จาก 2 ขั้ว จึงเปิดศึกแย้งชิงโครงการนี้อย่างดุเดือดถึงขั้นขึ้นศาลจนเป็นเหตุให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ต้องประกาศยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 จากที่ได้เริ่มขั้นตอนการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2563 งานนี้ 2 ขั้วยักษ์ใหญ่ยังมีเวลาแข่งกำลังภายในกันอีกนานลุ้นกันยาวไปจนถึงปลายปีนี้เลยทีเดียว งานนี้นอกจากแข่งด้วยเรื่องเงินลงทุน และความเชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการเดินรถแล้วยังต้องแข่งกันเรื่องพละกำลังเบื้องลึก เบื้องหลังกันด้วย