ผู้ชมทั้งหมด 520
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิพากษายกฟ้อง รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 กรณีที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ อท 30/2564 กรณี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้อง นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) (คณะกรรมการคัดเลือกฯ) รวมจำนวน 7 คน เป็นจำเลย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ กรณีที่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า ผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ร่วมกันใช้ดุลพินิจพิจารณาแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอใหม่ตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มาตรา 38(6) และ (7) และเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการนโยบายร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงเป็นไปตามข้อสงวนสิทธิ์ที่กำหนดไว้ในประกาศเชิญขวน และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเล่มที่ 1
การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่ทำให้ผู้ยื่นเอกสารข้อเสนอได้เปรียบเสียเปรียบซึ่งกันและกัน อีกทั้งการขยายระยะเวลาออกจากกำหนดเดิม ยังทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอได้มีเวลาจัดเตรียมข้อมูลข้อเสนอเพิ่มเติมอีกด้วย การแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใดรายหนึ่ง และกรณีที่มีการประกาศยกเลิกการคัดเลือกเอกชนครั้งดังกล่าว ไม่มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หรือเป็นการกระทำที่นอกขอบเขตแห่งกฎหมายหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
ดังนั้น การกระทำของผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงไม่ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และไม่ได้เป็นการขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งแต่อย่างใด จึงไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง ศาลพิพากษายกฟ้อง
ทั้งนี้ รฟม. ขอยืนยันว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่กฎหมาย รวมถึงมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนกำหนดอย่างครบถ้วน ซึ่งปัจจุบัน คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ ซึ่งผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ ตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม แห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) รยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)