ศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาบังคับตามประกาศฯ โครงการเสนอขายไฟฟ้าของ EA

ผู้ชมทั้งหมด 792 

ศาลปกครองเพชรบุรี มีคำสั่งทุเลาโครงการเสนอขายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT หลัง “เทพสถิต วินด์ฟาร์ม” บริษัทย่อย EA ยื่นเรื่องฟ้องกกพ. ออกคำสั่งโดยอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมเรียกร้องให้ กกพ.ทบทวนหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความชัดเจนในการกำหนดคุณสมบัติ

นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของผู้ฟ้องคดีคือ บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย EA ต่อคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับประกาศสำนักงาน กกพ. เรื่อง รายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ ตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี พ.ศ.2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ลงวันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ออกตามมติของ กกพ.ในการประชุมครั้งที่ 13/2566 (ครั้งที่ 841) เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และไม่มีรายชื่อของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผ่านการพิจารณาและได้อุทธรณ์ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

สาเหตุที่ศาลมีคำสั่งให้ทุเลา เนื่องจากการดำเนินการตามประกาศ ของ กกพ. เรื่องประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed–in Tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573 สำหรับพลังงานลม พ.ศ.2565 (“ประกาศเชิญชวน”) ในเบื้องต้นน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการคัดเลือกผู้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ดำเนินการตามประกาศดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นผลให้ผู้ฟ้องคดีตกเป็นผู้ไม่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์ความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำตามเกณฑ์ผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) ตามประกาศ กกพ.

นอกจากนี้ การคัดเลือกดังกล่าวไม่ได้มีการประกาศเกณฑ์การให้คะแนน และเกณฑ์ให้คะแนนเทคนิคขั้นต่ำผ่านหรือไม่ผ่าน (Pass/Fail Basis) หรือเกณฑ์คะแนนคุณภาพ การให้น้ำหนักคะแนนมาก-น้อย ที่ใช้ในการคัดเลือก จึงอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าไม่มีความโปร่งใส และยุติธรรม จะเป็นเหตุให้ประเทศชาติเสียประโยชน์จากการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวได้ และจะผูกพันไปตลอดอายุสัญญาขายไฟฟ้า โดยไม่อาจจะแก้ไขอย่างใดได้อีกตลอดระยะเวลา 25 ปี อันเป็นความเสียหายที่มิอาจเยียวยาแก้ไขได้ในภายหลัง

“จากคำสั่งศาลปกครองในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า กกพ. ควรกลับมาทบทวนหลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้เสนอขายไฟฟ้า ที่มีวิธีการ และเงื่อนไขการให้คะแนนที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาโครงการลักษณะดังกล่าวในอนาคต”

การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม พ.ศ.2566 ยังไม่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น อีกทั้งปริมาณพลังงานไฟฟ้าสำรองของประเทศในปัจจุบันมีมากกว่าร้อยละ 30 จึงไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงอันเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าสำรองซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ทั้งนี้ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อศาลปกครองมีคำสั่งทุเลาโครงการดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กพช. กกพ. การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. กฟภ.) และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะดำเนินการต่ออย่างไร เนื่องจากเกิดความไม่ชัดเจนทางกฎหมายในส่วนของวิธีปฎิบัติ และหากปฏิบัติตามประกาศเชิญชวน ต่อไปแล้วอาจจะมีปัญหาทางด้านความถูกต้องทางกฎหมาย

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง “รอบขยาย การรับซื้อส่วนที่ 1” ยังใช้กฎเกณฑ์เดิมในการคัดเลือก ที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และมติ กพช. ยังกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยมีเงื่อนไขว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอในการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมต้องไม่เป็นผู้ร้องเรียน ผู้อุทธรณ์ ผู้ฟ้องร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดาเนินการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามระเบียบ กกพ. และประกาศเชิญชวนรวมถึง กพช. กกพ. และกระทรวงพลังงาน ต้องรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง จากการที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว” ซึ่งมติดังกล่าว ถือเป็นการจำกัดสิทธิของบริษัทเอกชนที่ใช้สิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย