“ศักดิ์สยาม” สั่ง กทท. เร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ตั้งสายการเดินแห่งชาติ

ผู้ชมทั้งหมด 1,020 

ศักดิ์สยาม” สั่งการท่าเรือเร่งพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการแลนด์บริดจ์ พร้อมเตรียมชง ครม. จัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ หวังยกระดับเป็นท่าเรือติดอันดับ 1 ใน 9 ท่าเรือระดับโลก มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาโลจิสติกส์ทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะโลจิสติกส์ทางน้ำที่เป็นการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ ตนจึงได้มอบนโยบายให้กทท. เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และการนำระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการ เพื่อให้เกิดความแน่นอนและแม่นยำในการวางแผนบรรทุกและการขนถ่ายสินค้า อำนวยความสะดวกในการบริหารพื้นที่หลังท่า โดย กทท. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 68 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 

พร้อมกันนี้ตนยังได้ให้ กทท. และ กรมเจ้าท่า (จท.) เร่งรัดผลักดันให้มีการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติในรูปแบบสายการเดินเรือในประเทศ (Domestic) ,และสายการเดินเรือต่างประเทศ (International) ซึ่งจะมี 2 บริษัทคือ บริษัท สายการเดินเรือต่างประเทศฝั่งตะวันออก และ บริษัท สายการเดินเรือต่างประเทศฝั่งตะวันตก ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในปี 2565

สำหรับการจัดตั้งสายการเดินเรือนั้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยกองเรือไทย รวมทั้งลดการขาดดุลบริการด้านค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือไทย

นอกจากนั้นให้เร่งรัดดำเนินการในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land bridge) ซึ่งขั้นตอนขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)ได้ทำการศึกษาอยู่ และตามนโยบายกระทรวงคมนาคม ภายในปี 2572 โครงการ Land bridge จะเห็นเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้มั่นใจว่าโครงการ Land bridge จะช่วยพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งทะเล ให้เชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นอย่างไร้รอยต่อ ช่วยลดเวลา ต้นทุนการขนส่งสินค้าทางน้ำ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค และจะช่วยดึงให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทาง Land bridge เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกแทนเส้นทางการค้าเดิม คือช่องแคบมะละกา ซึ่งจากการศึกษายังพบว่าปัจจุบันช่องแคบมะละกามีเรือขนส่งผ่านกว่า 80,000 ลำต่อปี และคาดว่าใน 10 ปีจะมีปริมาณมากถึง120,000 ลำต่อปี ซึ่งถือเป็นการจราจรที่หนาแน่นมาก ดังนั้นแลนด์บริดจ์จะเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งทางน้ำของภูมิภาคอาเซียนและโลก 

“ปัจจุบัน กทท.ได้มีการปรับปรุงท่าเรือ และการบริการให้มีความทันสมัยในทุกๆท่าเรือ ทำให้สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าผ่านท่ารวมกว่า 9.8 ล้านทีอียู  และหากท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 แล้วเสร็จในปี 2568 จะสามารถรองรับตู้ผ่านท่าได้รวมกว่า 18 ล้านทีอียู ซึ่ง กทท.จะต้องเร่งพัฒนาท่าเรือของไทยติดอันดับ 1 ใน 9 ท่าเรือระดับโลก หรือ world class ให้ได้ในปี 2568 จากปัจจุบันท่าเรือของ กทท. อยู่อันดับ 20 ของโลก”

ด้านนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบแนวทางการดำเนินงานให้กับ กทท. เพิ่มเติมให้ไปดูการบริหารจัดการท่าเรือที่ประสบภาวะการบริหารที่ขาดทุน เช่น ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือระนอง ให้กลับมาได้กำไรอีกครั้ง โดยต้องช่วยกันบูรณาการหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก ท่าเรือแหลมฉบัง(ทลฉ.) เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดปัญหาจราจร และลดต้นทุนการขนส่งสินค้า