“ศักดิ์สยาม” สั่งตั้งกรรมการสอบเปลี่ยนป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 33 ล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 666 

ศักดิ์สยาม” สั่งตั้งกรรมการสอบเปลี่ยนป้ายสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 33 ล้าน พร้อมมอบหมายให้ รฟท. ตรวจสอบความถูกต้องในการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ ปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกล จำนวน 52 ขบวน ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่ 19 มกราคม

เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามผลการดำเนินการรถไฟสายสีแดง เพื่อยกระดับมาตรฐานการบริการขนส่งทางราง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ว่า ตนได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องของการปรับปรุงป้ายชื่อของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยมีรองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นรองประธาน และให้ผู้แทนจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมสถาปนิกสยาม และกรมบัญชีกลาง ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ รวมทั้งให้ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นเลขานุการ ทั้งนี้ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนต่อไป

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ) ตรวจเช็คระบบสาธารณูปโภคภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการให้บริการแก่ประชาชน สำหรับการปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ ที่จะให้บริการที่สถานีกลางฯ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป

ตลอดจนมอบหมายให้ รฟท. ตรวจสอบความถูกต้องให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องในการจัดประโยชน์พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในพื้นที่ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และให้มีช่องทางรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน อีกทั้งมอบหมายให้ รฟท. และ รฟฟท. จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ที่ส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) และใช้ Influencer ที่มีผู้ติดตามที่หลากหลาย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การประชาสัมพันธ์ให้เป็นรูปธรรม

อย่างไรก็ตาม รฟท. ได้กำหนดปรับเปลี่ยนขบวนรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ สายเหนือ สายใต้ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งหมดจำนวน 52 ขบวน ให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดทางรถไฟในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้โดยสารที่มีต้นทาง – ปลายทาง ที่สถานีกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีดอนเมือง สามารถใช้ตั๋วโดยสารรถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ขึ้นรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เพื่อเชื่อมต่อสถานีที่รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ไม่หยุดรับ – ส่ง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ส่วนขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และสำหรับขบวนรถนำเที่ยวทุกสายยังคงให้บริการที่สถานีหัวลำโพงเหมือนเดิม อีกทั้งผู้โดยสารรถไฟชานเมืองที่ใช้ตั๋วโดยสารรายเดือน สามารถนำมาใช้กับรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมทั้งได้มีการปรับปรุงเส้นทางการเดินรถประจำทางสาย 1 – 33 (บางเขน – สถานีกลางบางซื่อ) สาย 2 – 15 (กระทรวงสาธารณสุข – โรงพยาบาลสงฆ์) และสาย 2 – 17 (วงกลมสถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ – มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) เพื่อเป็นระบบเชื่อมต่อการเดินทางให้กับประชาชน

อีกทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะมาใช้บริการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ที่สถานีรังสิตจึงได้มีการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder)  เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการจัดให้มีระบบขนส่งสาธารณะเสริม (Feeder) เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานด้านระบบขนส่งสาธารณะเสริม (Feeder) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการให้บริการบัตรโดยสารรายเดือนร่วมของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) และรถโดยสารปรับอากาศ ขสมก. ปัจจุบัน รฟท. และ ขสมก. ได้จัดทำ MOU ร่วมกันแล้วโดยคาดว่าจะเปิดขายบัตรโดยสารดังกล่าวได้ภายในเดือนมกราคม 2566