ผู้ชมทั้งหมด 504
“ศักดิ์สยาม” ลุยลงทุนโปรเจ็คคมนาคม บก-น้ำ-ราง-อากาศ กว่า 1.2 แสนล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถพลิกโฉมประเทศ สร้างคาดช่วยเกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.35% ของจีดีพี
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. ที่โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องThailand Seamless: Moving Forward & Go Green “ประเทศไทย” ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ มุ่งสู่โลกสีเขียว หัวข้อ “มิติใหม่! “คมนาคม” ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร้รอยต่อ” ว่า ในปี 2566 กระทรวงคมนาคมมีแผนผลักดันการลงทุนรวม 124,839 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินงบประมาณ 35,395 ล้านบาท และนอกงบประมาณ 89,443 ล้านบาท
โดยจัดสรรเพื่อพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางรางสูงสุดมูลค่ารวม 883,147 ล้านบาท หรือคิดเป็น 66.6% รองลงมาคือ ขนส่งทางถนน มูลค่ารวม 30,960 ล้านบาท คิดเป็น 24.8% ระบบขนส่งทางอากาศมูลค่า 6,331 ล้านบาท คิดเป็น 5.8% และระบบขนส่งทางน้ำ มูลค่า 2,936 ล้านบาท คิดเป็น 2.4% และขนส่งทางบก มูลค่า 597 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ของวงเงินลงทุนทั้งหมด
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า การลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดการพลิกโฉมประเทศ โดยประชาชนคนไทย และชาวโลกจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานที่จะเพิ่มขึ้น 154,000 ตำแหน่ง ประกอบกับวงเงินสะพัดในอุตสาหกรรมก่อสร้าง และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องอีกราว 1.24 ล้านล้านบาท และสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจสูงถึง 2.35% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) หรือราว 4 แสนล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ จะเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานหลัก จาก 80 เป็น 120 ล้านคนต่อปี, เพิ่มขีดความสามารถท่าเรือแหลมฉบัง จาก 11 เป็น 18 ล้านตู้ต่อปี, เพิ่มความเร็วในการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเมืองหลักจาก 80 เป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, เพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขบวนผู้โดยสาร จาก 60 เป็น 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง, เพิ่มความเร็วในการเดินรถไฟขบวนสินค้า จาก 40 เป็น 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
อีกทั้งยังเพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ให้ครบ 14 สายทาง 554 กิโลเมตร (กม.), เพิ่มโครงข่ายรถไฟทางคู่ และแก้ปัญหาจุดตัดทางรถไฟ เป็น 1,111 กม., เพิ่มการเชื่อมต่อภูมิภาคด้วยโครงการ รถไฟ ไทย-ลาว-จีนและรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน และเพิ่มโอกาสสร้างอนาคตประเทศ ด้วยโครงการ MR-MAP และ Land bridge (แลนด์บริดจ์) หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ที่จะก่อให้เกิดการเดินทางและการขนส่งในภูมิภาคสะดวก เป็นเสมือนประตูการค้าเชื่อมอาเซียนและโลก
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ส่วนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่กระทรวงฯ มีแผนผลักดันการลงทุนในปี 2566 อาทิโครงการ MR-MAP เพื่อพัฒนาทางรถไฟและทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวม 10 เส้นทาง ระยะทางกว่า7,003 กม. ครอบคลุมทั่วประเทศซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวเส้นทาง เช่นเดียวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร – ระนอง ที่ภายในโครงการจะพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ ปัจจุบันเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)
นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนอื่นๆ เช่น มอเตอร์เวย์วงแหวนตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน – บางบัวทอง วงเงิน 56,035 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สายวงแหวนตะวันตก ช่วงบางบัวทอง – บางปะอิน วงเงิน 23,025 ล้านบาท มอเตอร์เวย์สายนครปฐม – ปากท่อ วงเงิน 43,227 ล้านบาท และส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) วงเงิน31,358 ล้านบาท
ขณะที่โครงการระบบราง ที่จะผลักดันส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดง 5 โครงการ วงเงินรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือน ก.พ. 2566 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเปิดประกวดราคา รวมไปถึงขนส่งทางน้ำที่อยู่ระหว่างผลักดันการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ การพัฒนาท่าเรือสำราญทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ส่วนระบบขนส่งทางอากาศอยู่ระหว่างพัฒนาขีดความสามารถท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 โดยปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 และ หลังที่ 3 เพื่อรองรับผู้โดยสาร 40 ล้านคนต่อปี