“ศักดิ์สยาม” สั่ง ขบ. เดินหน้าคุมเข้มขนส่งวัตถุอันตรายตามมาตรฐานUN 

ผู้ชมทั้งหมด 890 

ศักดิ์สยามคุมเข้มขนส่งวัตถุอันตราย ประเดิมซ้อมแผนฉุกเฉินพื้นที่ “ชลบุรี” ครั้งแรกในไทย ก่อนขยายผลไปยังทุกภูมิภาค สั่งขบ.จัดทำคู่มือ e-Book มาตรฐานของ UN เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนนำไปฝึกซ้อมกับผู้ขับขี่ได้ 

เมื่อวันที่ 2 ก.ย. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการซ้อมแผนฉุกเฉินอุบัติเหตุรถขนส่งวัตถุอันตรายตามข้อกำหนดความตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนนของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งยุโรปภายใต้สหประชาชาติ หรือข้อกำหนด ADR มุ่งสู่มาตรฐานสากล ควบคุมด้วยเทคโนโลยี ประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของประชาชน โดยมีคณะผู้บริหาร ข้าราชการจากกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ลานหน้าอาคารศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะความตกลงในภูมิภาคและได้ลงสัตยาบันในพิธีสารฉบับที่ 9 สินค้าอันตรายภายใต้กรอบความตกลงการขนส่งสินค้าผ่านแดนของอาเซียนในปี 2559 และได้มีการพัฒนา การควบคุม กำกับดูแล การขนส่งวัตถุอันตรายทางถนนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงแนวทางและข้อกำหนด ADR และมาตรฐานของสหประชาชาติ (UN) มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อลดความสูญเสียจากการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมขนส่ง 

โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้นำมาตรฐานของ UN มาประกอบการจัดทำใบอนุญาตขับขี่ และกำกับ ดูแลการขนส่งวัตถุอันตราย และขอความร่วมมือภาคเอกชน นำขั้นตอนการเผชิญเหตุที่กำหนด ไปประเมินสถานการณ์ เพื่อผู้ทดสอบผู้ขับขี่ตลอดเวลา นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยี GPS, การนำเทคโนโลยีการระบุตัวตนด้วยคลื่นความถี่(RFID) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (ITS) มาประยุกต์ใช้ด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ ขบ. ไปพิจารณาติดสัญญาณไฟบนรถขนส่งวัตถุอันตราย เพื่อให้เห็นในช่วงเวลากลางคืนอย่างชัดเจน พร้อมทั้งให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อใช้ความระมัดระวังในการขับรถ และมีความปลอดภัย รวมทั้งให้ไปจัดทำคู่มือในรูปแบบ e-Book ซึ่งมีรายละเอียดจากมาตรฐานของ UN เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถนำไปฝึกซ้อมกับผู้ขับขี่ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะมีการฝึกซ้อมกับรถประเภทอื่นๆ และไปฝึกซ้อมในพื้นที่ต่างจังหวัดทั่วประเทศ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์นครศรีธรรมราช สงขลา ภูเก็ต เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เพิ่มมูลค่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการบริหารการขนส่ง การบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินที่ดี แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวที่ดีของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และการเป็นประเทศชั้นนำด้านการบริหารจัดการขนส่งสินค้าอันตรายของอาเซียน

ดังนั้นโครงการนี้ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งวัตถุอันตรายทางถนน เพื่อให้ทราบถึงขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะช่วยลดความสูญเสียและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนาเป็นประเทศผู้นำในประเทศสมาชิกอาเซียนในการนำเอาข้อกำหนด ADR มาปฏิบัติในประเทศ และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ขับรถขนส่งวัตถุอันตรายต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่ ADR กำหนด เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่ง ผู้ขับรถและผู้เกี่ยวข้องมีความรู้ครอบคลุมกระบวนการของการขนส่งวัตถุอันตราย ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง 

ทั้งนี้ ได้นำร่องกับรถและวัตถุอันตรายชนิดที่มีการขนส่งมากที่สุดก่อน ได้แก่ รถแท็งก์บรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงและรถแท็งก์บรรทุกก๊าซปิโตรเลียมเหลว โดยได้เลือกพื้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งมีปริมาณและความถี่ในการขนส่งวัตถุอันตรายสูงสุดจังหวัดหนึ่งของประเทศ โดยกิจกรรมในครั้งนี้พิจารณาว่า เป็นโครงการในระยะแรก เน้นให้ความสำคัญในส่วนของการซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติของพนักงานขับรถในกรณีเกิดอุบัติเหตุ 

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ได้จำลองสถานการณ์ให้ความรุนแรงของสถานการณ์อยู่ทั้งในระดับที่ 1 ซึ่งพนักงานขับรถสามารถดำเนินการบางอย่าง เพื่อลดผลกระทบได้เอง และขยับขึ้นเป็นระดับที่ 2 ซึ่งพนักงานขับรถต้องสื่อสารให้ข้อมูลกับหน่วยงานสนับสนุนจากภายนอกเข้ามาช่วยเหลือ นอกจากนี้ ขบ. มีแผนจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้องค์ความรู้แก่ทั้งพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการขนส่ง และหน่วยงานฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องต่อไปอย่างต่อเนื่อง

รายงานข่าวจาก ขบ. แจ้งว่า ปัจจุบันมีจำนวนพนักงานขับรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายประมาณ 30,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ได้รับใบรับรองรถขนส่งสินค้าวัตถุอันตรายทั้งหมดแล้ว