“ศักดิ์สยาม” พร้อมคณะผู้บริหารการท่าเรือฯ เยี่ยมชมท่าเรือ Tuas ประเทศสิงคโปร์

ผู้ชมทั้งหมด 772 

“ศักดิ์สยาม” พร้อมคณะผู้บริหารการท่าเรือฯ เยี่ยมชมท่าเรือ Tuas ประเทศสิงคโปร์ ศึกษาระบบการปฏิบัติการท่าเรืออัตโนมัติ เพื่อนำมากำหนดแนวทางนโยบายในการพัฒนาท่าเรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ผู้แทนกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมกับ PSA International (PSA) ผู้ประกอบการท่าเรือชั้นนำระดับโลก (Global Terminal Operator: GTO) ที่มีเครือข่ายทั่วโลกครอบคลุมพื้นที่ 160 แห่งใน 42 ประเทศ ให้บริการประกอบการท่าเรือน้ำลึก การขนส่งทางรถไฟ ตลอดจนธุรกิจในเครือในด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน และโลจิสติกส์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ Districpark และ Cargo warehouse นอกจากนี้ PSA ร่วมมือพันธมิตร เพื่อให้บริการท่าเรือระดับโลกควบคู่ไปกับการพัฒนาโซลูชั่นการขนส่งสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ โดยในปี 2564 มีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าที่ประกอบการโดย PSA ทั่วโลก ถึง 91.5 ล้านทีอียู และมีปริมาณตู้สินค้าผ่านท่าเรือ PSA ณ สิงคโปร์อยู่ที่ 37.2 ล้านทีอียู  หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35 ของปริมาณตู้สินค้าของ PSA ทั่วโลก

ท่าเรือ Tuas เป็น Landmark ที่มีความสำคัญของและเป็นอนาคตของการขนส่งทางน้ำของสิงคโปร์ เป็นการก่อสร้างบนพื้นที่จากการถมทะเลทั้งหมดมีการแบ่งโครงพัฒนาท่าเรือเป็น 4 ระยะ โดยในระยะแรก (Phase 1) จะสามารถรองรับตู้สินได้ 20 ล้านทีอียู และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการในระยะที่ 4 ท่าเรือ Tuas จะเป็นท่าเทียบเรือตู้สินค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถรองรับตู้สินค้าได้ 65 ล้านทีอียู ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จใน ปี 2585 เมื่อพัฒนาครบ 4 ระยะ ท่าเรือ Tuas จะพลิกโฉมมาเป็นท่าเรือหลักของประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ PSA ให้ความสำคัญกับประเด็นด้าน ดิจิทัลเทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม อาทิ การพัฒนาท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก และความปลอดภัยในการปฏิบัติงานท่าเรือ เพิ่มสุขภาวะที่ดีในการทำงานให้แก่พนักงานของท่าเรือ และการพัฒนาระบบ Port Community System (PCS) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแบบไร้รอยต่อ (Seamless Operation) ระหว่างภาครัฐ เอกชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ท่าเรือ Tuas ยังสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก โดยติดตั้งระบบโซลาเซลล์สำหรับการจ่ายไฟเพื่อใช้ภายในอาคารสำนักงาน และการใช้รถลำเลียงอัตโนมัติโดยใช้พลังงานไฟฟ้า (automated guided vehicle: AGV) ปฏิบัติงานในบริเวณท่าเรือ และมีการวางแผนใช้พลังงานสะอาดและระบบจัดเก็บและจ่ายพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

โดยคำนึงถึงการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนเป็นสำคัญจากการหารือพร้อมเยี่ยมชมท่าเรือในวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทย นำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ทั้ง Port Automation, Sustainability, Port Community System ไปประยุกต์ใช้สำหรับการกำหนดนโยบายพัฒนาท่าเรือของไทย เพื่อรองรับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมท่าเรือที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทั้งในด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของท่าเรือ (Port operations) เทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป