“ศักดิ์สยาม” ปล่อยขบวนรถไฟทางไกลเที่ยวปฐมฤกษ์ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์

ผู้ชมทั้งหมด 951 

ศักดิ์สยาม” ปล่อยขบวนรถไฟทางไกลเที่ยวปฐมฤกษ์ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ พร้อมเร่งส่วนต่อขยายสายสีแดงเข้า ครม.ภายในรัฐบาลชุดนี้

เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ขบวนเร็วที่ 171 กรุงเทพ – สุไหงโกลก เพื่อแสดงสัญลักษณ์การเปลี่ยนสถานีต้นทาง – ปลายทางมาเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ก่อนนำทีมร่วมโดยสารในขบวนรถ KIHA ไปยังจุดหยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมว่า ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.66  ขบวนรถไฟทางไกลจะเปิดให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีกรุงเทพหรือหัวลำโพง และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น

โดยในระยะแรกจะดำเนินการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล ณ บริเวณประตู 4 ชั้น 2 จำนวน 8 ชานชาลา รวม 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ซึ่งในวันนี้ 19 ม.ค. มีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จำนวน 27  ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออก จำนวน 10 ขบวน ขาเข้า จำนวน 7 ขบวน และรถไฟสายใต้ ขาเข้า จำนวน 1 ขบวน ขาออก จำนวน 9 ขบวน ทั้งนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) คาดการณ์ว่า หลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกลจะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมมีมาตรการรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก โดยรฟท. ร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดเดินรถ Shuttle Bus และรถเฉพาะกิจ ให้บริการฟรี 2 เส้นทาง โดยแสดงตั๋วรถไฟต่อพนักงานเก็บค่าโดยสารเมื่อใช้บริการ สามารถขึ้นรถได้ที่ประตู 12 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และป้ายรถเมล์สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ดังนี้

1. จัดเดินรถ Shuttle Bus ให้บริการฟรี เส้นทางบนทางด่วน “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” จำนวน 6 คัน ตั้งแต่เวลา 04.30 – 23.00 น. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีรถไฟ ทั้ง 2 แห่ง

2. จัดเดินรถเฉพาะกิจให้บริการฟรี เส้นทางปกติ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ในการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีรถไฟสามเสน สถานีรถไฟโรงพยาบาลรามาธิบดี สถานีรถไฟยมราช และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) ได้แก่ รถโดยสารธรรมดา และรถโดยสารปรับอากาศยูโรทู จำนวน 10 คัน โดยมีท่าต้นทาง 2 แห่ง คือ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และจัดเดินรถโดยสาร ตั้งแต่เวลา 04.30 – 23.00 น. ปล่อยรถคันแรกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) เวลา 04.30 น. มีความถี่ในการปล่อยรถทุก 15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน (04.30 – 10.00 น. และ 16.00 – 18.00 น.) ส่วนช่วงเวลาปกติมีความถี่ในการปล่อยรถทุก 30 นาที ทั้งนี้ เฉพาะวันที่ 19 มกราคม 2566 จัดเดินรถโดยสารตั้งแต่เวลา 12.00 – 23.00 น.

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่เกิดขึ้นดังกล่าว รฟท. ต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจให้กับผู้ใช้บริการ รวมถึงภาคส่วนต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทุกช่องทางเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ รฟท . และ ขสมก. ไปสำรวจความพึงพอใจของผู้โดยสารต่อการให้บริการ ทั้งที่สถานีกลาฯ และ ชัทเติ้ลบัส เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงที่ตอบโจทย์การให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สำหรับขบวนรถไฟทางไกลประเภทรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว ทั้งสายเหนือ สายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ที่เปิดให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.66 มีจำนวน 52 ขบวน ประกอบด้วย รถไฟสายเหนือ จำนวน 14 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 7/8,  9/10, 13/14, 51/52, 109/102, 107/112, 111/108

รถไฟสายใต้ จำนวน 20 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 31/32, 37/38, 39/40, 43/44, 45/46, 83/84, 85/86, 167/168, 169/170, 171/172 รถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 18 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถที่ 21/22, 23/24, 25/26, 71/72, 75/76, 133/134,  135/136, 139/140, 141/142

นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ในส่วนของแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เนื้อที่ 2,325 ไร่นั้น ได้เร่งรัดให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของรฟท. เร่งดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านเชิงพาณิชย์แก่ผู้ใช้บริการรถไฟ และประชาชนทั่วไปที่สามารถเข้ามาใช้บริการได้ เบื้องต้นจะนำเอาที่ดินในส่วนของแปลง A และ E มาศึกษาก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 66 จากนั้นจะจัดโรดโชว์สำรวจความสนใจของนักลงทุนต่อไป

สำหรับการพัฒนาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟชานเมืองสายสีแดงจำนวน 4 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 68,000 ล้านบาทนั้น อยู่ระหว่างการเร่งผลักดัน ซึ่งรฟท. ได้ส่งรายละเอียดผลการศึกษามายังกระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อให้ระบบขนส่งทางรางสามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเดินทางได้อย่างสมบูรณ์