ผู้ชมทั้งหมด 535
“ศักดิ์สยาม” ดันใช้รถเมล์-รถไฟ EV ลดต้นทุนพลังงาน ช่วยประหยัดค่าโดยสาร จ่อเปิดตัวหัวรถจักรพลังงานไฟฟ้าต้นแบบพ.ย.นี้ ชี้ราคาสายสีเขียวหลังหมดสัมปทานต้นทุนลดเป็นไปได้ที่จะเหลือ 20 บาทตลอดสาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ปัจจุบันระบบขนส่งทางรางยังมีต้นทุนสูงหากเทียบกับระบบขนส่งทางบก จึงมีนโยบายให้ทุกระบบขนส่งพัฒนาพลังงานทางเลือก หรือพลังงานไฟฟ้า (EV) เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงไปได้จำนวนมาก และประโยชน์จากการลดต้นทุนพลังงานยังจะทำให้ต้นทุนค่าโดยสารของประชาชนถูกลงด้วย
ในส่วนของระบบขนส่งทางราง ปัจจุบันมีบางส่วนใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ก็พบว่าเป็นพลังงานที่ต้องมีการติดตั้งระบบที่ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นตนจึงฝากให้ทุกภาคส่วนเริ่มดำเนินการศึกษาพลังงานทางเลือก ใช้ไฟฟ้าจากระบบอื่น เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยหากสามารถดำเนินการได้จริง เชื่อว่าอนาคตค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะถูกลงแน่นอน
โดยรถไฟฟ้ามีต้นทุนสูงจากการติดตั้งระบบ และมีค่าก่อสร้างต่างๆ แต่หากรถไฟฟ้าที่ครบสัญญาสัมปทาน 30 ปีแล้ว ค่าติดตั้งระบบและค่าก่อสร้างก็จะถูกหักลบออกไปทำให้สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายได้ เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทาน เชื่อว่าหากคำนวณต้นทุนดีๆ ตัวเลข 20 บาทก็เป็นไปได้ แต่จะทำได้เมื่อไหร่นั้นต้องรอให้ร่าง พรบ.กรมการขนส่งทางรางประกาศใช้ก่อน เพราะกรมการขนส่งทางรางมีสถานะเป็นผู้กำกับระบบขนส่งทางรางทั้งหมด สามารถกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ รวมถึงต้นทุนค่าโดยสารได้
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ตนได้รับรายงานเบื้องต้นว่าขณะนี้ภาคเอกชน ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการพัฒนาหัวรถจักรรถไฟ EV ต้นแบบ ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการใช้พลังงานได้ 40% เมื่อเทียบกับหัวรถจักรดีเซล คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย. 65 และจะมีการทดสอบเดินรถในระยะสั้นๆ ภายในปลายปี 65 ซึ่งหากได้ผลดีอาจต้องมีการทบทวนแผนการจัดซื้อหัวรถจักร และรถโดยสารของ รฟท. ให้เป็นแบบ EV
อย่างไรก็ตามขณะนี้งบประมาณของรัฐค่อนข้างมีข้อจำกัด หากให้เอกชนลงทุนได้ก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชน และประเทศชาติ แต่ทั้งนี้การทำรถไฟ EV ขึ้นเองนั้น ต้องเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ และต้องได้มาตรฐานระดับสากลด้วย เพื่อให้การใช้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับรถโดยสารไฟฟ้านั้น ขณะนี้เอกชนเริ่มนำรถโดยสารไฟฟ้ามาให้บริการประชาชนแล้ว โดยกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี จะต้องเปลี่ยนรถเมล์ที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นรถเมล์พลังงานสะอาด หรือรถเมล์พลังงานไฟฟ้า (EV) ประมาณ 5-8 พันคัน ส่วนโครงการรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 224 คัน ขององค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) ที่ยังติดขัดเรื่องการตีความของสำนักงบประมาณในการใช้งบประมาณลงทุนนั้น เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนจะทันนำมาให้บริการประชาชนได้ภายในปีนี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่จะทันในปี 66 หรือไม่ อาจต้องรอรัฐบาลชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้จะหมดวาระในเดือน มี.ค. 66