ผู้ชมทั้งหมด 461
“ศักดิ์สยาม” เทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 โครงการด่วนพระราม 3 คาดเปิดใช้งานบางส่วนมี.ค.67 ก่อนเปิดให้บริการตลอดเส้นทางในปี 68 ลดปัญจราจราจรแออัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ณ ลานจัดงานพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (ฝั่งกรุงเทพฯ)นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เป็นประธานพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (Final Casting Ceremony) โครงการทางพิเศษ(ทางด่วน)สายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) วงเงินลงทุนโครงการประมาณ 3 หมื่นล้านบาท เพื่อให้สะพานทั้งสองฝั่งเชื่อมต่อกันได้ โดยมี นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. พร้อมด้วยคณะกรรมการผู้บริหาร และพนักงานเข้าร่วม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีระยะทางรวม 18.7 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับ 6 ช่องจราจร และ 8 ช่องจราจรบริเวณสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 โดยเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของกรุงเทพฯสามารถรองรับปริมาณการจราจรได้วันละประมาณ 150,000 คันต่อวัน รวมทั้งรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในของกรุงเทพมหานครจากฝั่งตะวันออกไปยังฝั่งตะวันตก และการเดินทางมุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศไทยได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนทางพิเศษเฉลิมมหานคร ช่วงบริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่บนสะพานพระราม 9 ถึงด่านสุขสวัสดิ์ บริเวณถนนพระราม 2 จากปริมาณความแออัดทางจราจร 100,470 คันต่อวันให้ลดลงเหลือ 75,325 คันต่อวัน หรือลดลงร้อยละ 25 และยังสามารถเชื่อมต่อกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว (M82) ของกรมทางหลวง(ทล.) ได้อีก
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ปัจจุบันภาพรวมโครงการ ณ สิ้นเดือนม.ค.66 มีความก้าวหน้าประมาณ 46.21% เร็วกว่าแผนงาน 5.56% (แผนงาน 40.65%) โดยพิธีเทคอนกรีตจุดเชื่อมต่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 (Final Casting Ceremony) ครั้งนี้ จะทำให้โครงสร้างของสะพานขึงเชื่อมกัน 100% ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่ 4 ในโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ทั้งนี้การก่อสร้างสัญญาที่ 4 ขณะนี้มีความก้าวหน้าแล้วกว่าร้อยละ 98.23 ซึ่งงานโครงสร้างของสะพานขึงจะแล้วเสร็จภายในเดือนเม.ย.66 จากนั้นจะเป็นงานในส่วนของสถาปัตยกรรม โดยกทพ.มีแผนเปิดให้บริการบางส่วน ช่วงบริเวณสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 ถึงบริเวณด่านสุขสวัสดิ์ ในช่วงเดือนมี.ค. 67 ก่อนที่จะเปิดให้บริการทั้งโครงการอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 68 อย่างไรก็ตาม กทพ.ได้ขอพระราชทานชื่อสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 เพื่อเทิดพระเกียรติพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเพื่อความเป็นสิริมงคล
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เมื่อมีการเปิดใช้สะพานดังกล่าวแล้ว กทพ.จะทำการบูรณะสะพานพระราม 9 ซึ่งจะใช้เวลาในการซ่อมบำรุงประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้กทพ.คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย และประชาชนต้องได้รับความสะดวกระหว่างการก่อสร้างมากที่สุด รวมถึงต้องสร้างการรับรู้ให้ประชาชนรับทราบถึงประโยชน์ของโครงการในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญต้องแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยประชาชนต้องได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันโครงข่ายทางพิเศษของ กทพ. ที่เปิดให้บริการแล้วมีระยะทางรวม 225 กิโลเมตร(กทม.) ซึ่งกทพ.ต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้ทางและสร้างความสุขในการเดินทางให้กับพี่น้องประชาชนต่อไป