ผู้ชมทั้งหมด 925
“ศักดิ์สยาม” หารือกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (MJ-EMM) หนุนพัฒนาอุตสาหกรรมการค้าข้ามแดน เชื่อมโยงคมนาคมขนส่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรัฐมนตรีประจำกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม (Mekong-Japan Economic and Industrial Cooperation Initiative: MJ-CI) พร้อมด้วยนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีกรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ครั้งที่ 13 (The 13th Mekong-Japan Economic Ministers Meeting: 13th MJ-EMM) จัดขึ้นในรูปแบบของการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564
โดยมีรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและการลงทุนจาก 5 ประเทศ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น เลขาธิการอาเซียน ผู้แทนภาคเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่น และคณะกรรมการความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอาเซียน-ญี่ปุ่น (AEM-METI Economic and Industrial Cooperation Committee: AMEICC) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการเข้าร่วมการประชุม
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า กรอบความร่วมมือ MJ-CI นี้ เป็นการสนับสนุนบทบาทของญี่ปุ่นด้านการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตของญี่ปุ่น เช่น ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต่อยอดให้ห่วงโซ่มูลค่าในญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมอาหารและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการบริการสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งมุ่งเน้นการเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เป็นหลัก
พร้อมกันนี้การประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งนี้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Mekong Industrial Development Vision (MIDV) ระยะที่ 2 (MIDV2.0) ปี 2562 – 2566 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาในอนุภูมิภาคภายใต้ 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) การเชื่อมโยง (Connectivity) โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ
และกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรม 2) นวัตกรรมเชิงดิจิทัล (Digital Innovation) การยกระดับอุตสาหกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และ 3) การดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นและประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงในความพยายามเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนระหว่างกันไม่ให้ขาดช่วง ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 พร้อมแสดงเจตจำนงของไทยในความพยายามที่จะเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่ากับประเทศเพื่อนบ้าน และอำนวยความสะดวกการลงทุนของญี่ปุ่น ตามหลักการ Thailand + 1 โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมอย่างไร้รอยต่อทั้งภายในอนุภูมิภาคและสู่ภูมิภาคอื่นๆ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งเชิงกายภาพและด้านกฎระเบียบ
โดยมุ่งเน้นเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษตามชายแดนในแนวระเบียงเศรษฐกิจ และมีแผนที่จะเชื่อมโยงกับระบบการขนส่งในทุกรูปแบบกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวเหนือ-ใต้ และแนวตะวันออก-ตะวันตก ตามแผนการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (Motorway-Rail Map: MR Map) รวม 9 เส้นทาง และโครงการสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) ทางภาคใต้ เชื่อมโยงทะเลฝั่งอ่าวไทยและทะเลฝั่งอันดามัน มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ (Quality Infrastructure) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งมุ่งเน้นเสริมสร้างคุณภาพของประชาชนไทยและแรงงานให้มีความสามารถเชิงดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ในการนี้ ได้ขอให้ญี่ปุ่นมีบทบาทนำในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้การนำใช้ IoTs /Smart Devices /Cloud Computing ให้แก่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Champion ของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง รวมถึงการแสดงเจตจำนงของไทยในความพยายามที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านแนวนโยบายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์
โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เพิ่มการนำใช้พลังงานหมุนเวียน เป็นต้นซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมีเป้าหมายหลักในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และนำไปสู่ “การสร้างใหม่ให้ดีกว่าเดิม” โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง