“วิทยุการบิน” จับมือพันธมิตรเชื่อมต่อข้อมูลการเดินอากาศในเอเชีย-แปซิฟิก

ผู้ชมทั้งหมด 287 

“วิทยุการบิน” เดินหน้าจับมือพันธมิตรพัฒนาเชื่อมต่อข้อมูลการเดินอากาศในเอเชีย-แปซิฟิก หวังยกระดับการให้บริการการเดินอากาศ รองรับการเติบโตของภูมิภาค คาดปี 68 ผู้โดยสารในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกลับมาเท่าช่วงปี 62 ราว 37% ของผู้โดยสารทั่วโลก

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด หรือ บวท.เปิดเผยว่า จากการที่ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้วิทยุการบินฯ มุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินและความร่วมมือกับพันธมิตรในเอเชียและแปซิฟิกนั้น ตนได้เข้าร่วมการประชุม Asia and Pacific ANSP Committee (AAC) ในฐานะ Vice-chairmanระหว่างวันที่ 8-10 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเวทีสำคัญของหน่วยงาน ผู้ให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service Provider) ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาการให้บริการการเดินอากาศ (Air Navigation Service) ในภูมิภาคให้สามารถดำเนินงานตามแผน Asia Pacific Seamless Air Navigation Service Plan

พร้อมกันนี้ยังได้หารือแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลเทคโนโลยีทางด้านการบินและแนวทางความร่วมมือด้านต่างๆ ได้แก่ ความร่วมมือในการดำเนินการเรื่อง Cross-Border Air Traffic Flow Management การจัดการฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งสืบเนื่องจาการหารือร่วมกันในครั้งนี้ วิทยุการบินฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) แลกเปลี่ยนแนวทางด้านปฏิบัติการ (Operations) และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และนำมาจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมกันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 เพื่อมุ่งไปสู่การบริการการเดินอากาศที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน

นายณพศิษฏ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสเดียวกันนี้ตนได้เข้าร่วมการประชุม CANSO Asia Pacific Conference ซึ่งเป็นการรวมตัวของผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบิน Theme ของการประชุม คือTaking Bold Actions for Regional ATM Through Digital Solutions ซึ่งเป็นหัวข้อต่อเนื่องจากการประชุมในปีที่ผ่านมาที่ได้ตกลงให้มีการดำเนินการตามรายงาน Asia Pacific ATM White Paper ที่มีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาการบริหารจราจรทางอากาศด้วยเทคโนโลยีและการร่วมมือกันระหว่างองค์กรการบินต่าง ๆ เพื่อให้การบริการจราจรทางอากาศสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

ทั้งนี้วิทยุการบินฯ คาดว่าในปี 2568 จำนวนผู้โดยสารของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะกลับมาเท่ากับช่วงก่อน COVID-19 ในปี 2562 ซึ่งมีจำนวน 37% ของผู้โดยสารทั่วโลก โดยที่ประชุมได้มีการนำเสนอมุมมอง แนวคิดของผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศในภูมิภาค และหน่วยงานผู้ผลิตชั้นนำของอุตสาหกรรมการบินอีกทั้ง วิทยุการบินฯ ได้หารือความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน (Bilateral Meeting) กับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชื่อมต่อข้อมูลการให้บริการการเดินอากาศระหว่างกันได้ พร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในเอเชียและแปซิฟิก