ผู้ชมทั้งหมด 608
รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน หรือ Aviation Hub ของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุน กระตุ้นการท่องเที่ยว และเพื่อผลักดันให้ไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินนั้นกระทรวงคมนาคมมีแผนลงทุนพัฒนาปรับปรุง และขยายท่าอากาศยาน รวมถึงการขยายเส้นทางบิน เพื่อเร่งขยายความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบิน เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยกระดับท่าอากาศยานของไทยสู่การเป็น Aviation Hub ของภูมิภาค



บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เป็นอีกหน่วยงานภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงคมนาคมที่เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยผลักดันไทยเป็น Aviation Hub ของภูมิภาค โดยวิทยุการบินฯ มีแผนงาน ปรับปรุงเส้นทางบินสำหรับทุกทิศทางการบินเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ การสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน (Parallel Route) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคอขวด รวมถึงมีแผนลงทุนก่อสร้างหอบังคับการบินในการลงทุนสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค บวท.ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ มีความพร้อมในการสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาลโดยมุ่งเน้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน
โดยในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา บวท. ได้ร่วมมือกับจีนและลาวสร้างเส้นทางบินใหม่แบบคู่ขนาน เชื่อมโยงท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย รวมทั้งเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงการเชื่อมต่อเส้นทางบินระหว่างประเทศ เพื่อรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศจากประเทศจีน ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น เฉิงตู เทียนฟู คุนหมิง กุ้ยหยาง ฉงชิง ซีอาน
ส่วนแผนสร้างเส้นทางบินใหม่ระหว่างปี 2568 – 2569 นั้นบวท. อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินเชื่อมต่อจากประเทศไทยยังประเทศเมียนมาร์ เชื่อมต่อ อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความคล่องตัวของการจัดการจราจรทางอากาศ ลดระยะทางการบิน และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
พร้อมกันนี้ บวท. ยังได้ดำเนินการจัดทำเส้นทางบินเพื่อสนับสนุนการจัดการจราจรขาออกจากสนามบินอู่ตะเภาไปยังประเทศจีน และเอเชียตะวันออก เพิ่มความคล่องตัวและลดระยะทางการบิน รองรับปริมาณเที่ยวบินที่จะเพิ่มขึ้นจากการเปิดใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินหลักแห่งที่ 3โดยเพิ่มความคล่องตัวและความปลอดภัย รวมทั้งลดระยะทางการบิน และการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
นอกจากนี้อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศไทย (สนามบินสมุย และสนามบินภูเก็ต) ประเทศกัมพูชา (สนามบินพนมเปญ และ สนามบินสีหนุวิลล์) และประเทศเวียดนาม (สนามบินฟู้โกว๊ก และสนามบินโฮจิมินห์) เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อระหว่างเมืองท่องเที่ยวของทั้ง 3 ประเทศ สามารถช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและเที่ยวบิน
เตรียมงบลงทุน 3,600 ล้าน สร้างหอบังคับการบิน 3 แห่ง
นอกจากพัฒนาเส้นทางบินแล้ว บวท. ยังมีแผนลงทุนสร้างหอบังคับการบินเพิ่มอีก 3 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามแผนการลงทุนของรัฐบาล นายณพศิษฏ์ ระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะขยายท่าอากาศยานเพิ่มจำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 (ท่าอากาศยานล้านนา) ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และท่าอากาศยานอันดามัน ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกกลอย ตำบลหล่อยูง อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
โดยบวท.จะเป็นผู้ดำเนินการลงทุนหอบังคับการบินทั้ง 3 แห่ง กรอบวงเงินลงทุนรวม 3,600 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนห่อบังคับการบินท่าอากาศยานอู่ตะเภา กรอบวงเงิน 1,200 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2572 การลงทุนหอบังคับการบินท่าอากาศยานเชียงใหม่แห่งที่ 2 กรอบวงเงิน 1,200 ล้านบาท และหอบังคับการบินท่าอากาศยานอันดามัน กรอบวงเงิน 1,200 ล้านบาท


พร้อมกันนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศนั้น บวท. อยู่ระหว่างพัฒนาแนวทางการใช้งานระบบหอบังคับการบินอัจฉริยะ หรือ Digital Tower ซึ่งเป็นระบบที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยให้เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศสามารถมองเห็นภาพที่สมจริงและครอบคลุมของพื้นที่สนามบิน แก้ปัญหาจุดอับสายตา ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เพิ่มระดับความปลอดภัยการใช้งานทางวิ่ง ทางขับ เพิ่มความปลอดภัยในการให้บริการจราจรทางอากาศ และทำให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้นอีก
ศึกษาสนามบินฟูกูโอกะ ยกระดับสนามบินภูมิภาคในไทย

การศึกษาดูงานต่างประเทศเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยในการพัฒนา และยกระดับท่าอากาศยานของไทย โดย นายณพศิษฏ์ ระบุว่า ล่าสุด บวท. ได้ศึกษาแนวทางเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งเป็นท่าอากาศยานที่มีเที่ยวบินหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศ รองจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง มีความสามารถในการรองรับของทางวิ่ง 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และได้เลือกท่าอากาศยานฟูกูโอกะ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของภูมิภาคคิวชู ประเทศญี่ปุ่น เป็นคู่เทียบและแบบอย่างสําหรับวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ หรือ Benchmark เพื่อเป็นแนวทางในการเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการจราจรทางอากาศ เนื่องจากมีลักษณะทางกายภาพใกล้เคียงกับท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานหลักของภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย ที่ช่วยยกระดับท่าอากาศยานของไทยให้มีประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี สู่การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค