วิทยุการบินฯ จัดประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Next Wave APAC

ผู้ชมทั้งหมด 217 

วิทยุการบินฯ จัดประชุมระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค Next Wave APAC พัฒนาเทคโนโลยีการบินในอนาคต แบ่งปันความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อแวดวงการบิน จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมบันยันทรี สาทร

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมด้านการบินมาอย่างต่อเนื่อง จึงกำชับให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ก้าวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเทคโนโลยี โดยให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อยกระดับความสามารถของหน่วยงานต่าง ๆ ในภูมิภาคให้มีศักยภาพทัดเทียมกัน ผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และบุคลากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในระยะยาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและยกระดับความแข็งแกร่งทางการบินของภูมิภาคอีกด้วย

นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (บวท.) บวท. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Next Wave APAC : Aviation Technologies through Synergy ระหว่างวันที่ 17 – 21 กุมภาพันธ์ 2568 ณ โรงแรมบันยันทรี สาทร กรุงเทพฯ จัดขึ้นภายใต้กรอบการดำเนินงานความร่วมมือ Asia/Pacific Air Navigation Service Provider Committee (AAC) Workstream 1 (Investment) ภารกิจที่ 3 การศึกษาความเป็นไปได้ความเหมาะสมของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อรองรับการให้บริการการเดินอากาศภายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในอนาคต

ภารกิจที่ 7 การแบ่งปันประสบการณ์การวางแผน จัดหา ติดตั้ง ใช้งาน ซ่อมบำรุง ระบบ อุปกรณ์ทางเทคนิคสำหรับงานบริการการเดินอากาศ ตลอดอายุใช้งาน ซึ่งประเทศจีน สิงคโปร์ และไทย ร่วมกันเป็นผู้ดำเนินงานหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาระบบการให้บริการการเดินอากาศในภูมิภาค มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากอุตสาหกรรมเทคโนโลยีการให้บริการการเดินอากาศ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ ตามแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO

รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีผู้แทนหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จาก 23 ประเทศ จำนวน 160 คน เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านการบินและเทคโนโลยีให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้มีการจัดนิทรรศการ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการได้แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีด้านการบินทั้งในปัจจุบันและในอนาคต”