ลุ้น! ค่าไฟฟ้าปีหน้าต่ำกว่า 4.18 บาทต่อหน่วย คาดราคา LNG ปรับตัวลดลง

ผู้ชมทั้งหมด 316 

ลุ้น! ค่าไฟฟ้าปีหน้าต่ำกว่า 4.18 บาทต่อหน่วย คาดราคา LNG ปรับตัวลดลง กกพ.ชี้หากเลือกคืนหนี้กฟผ.ทั้งหมด แม้ค่าไฟฟ้าจะพุ่ง 6.01 บาทต่อหน่วย “เจ็บแต่จบ” ในครั้งเดียว งวดถัดไปค่าไฟฟ้าก็จะลดลง ส่วนค่าไฟฟ้างวด ก.ย. – ธ.ค. 67 ตรึงที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ส่งผลกฟผ.ยังต้องแบกภาระหนี้สูงกว่า 1.1 แสนล้าน

การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ครั้งที่ 31/2567 (ครั้งที่ 916) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ได้พิจารณาการประมาณการค่า Ft สำหรับเรียกเก็บในเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 ที่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธาณะ รวมทั้งพิจารณาหนังสือข้อเสนอการปรับค่า Ft ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการสนับสนุนนโยบายการคงราคาค่าไฟฟ้าของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบค่า Ft ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บจากผู้ใช้ไฟฟ้าในใบเรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2567 เท่ากับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่ร่วมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วยตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การตรึงค่าไฟฟ้าในงวดกันยายน-ธันวาคม 2567 ส่งผลให้ภาระคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ. คงเหลือ 95,228 ล้านบาท และภาระคงค้าง (AF Gas) ของปตท. อยู่ที่ 15,084 ล้านบาท รวมเป็น 110,312 ล้านบาท แต่มีการคืนหนี้ให้กับกฟผ.ไปเพียง 3,267 ล้านบาท

สำหรับการคิดคำนวณค่า Ft ในงวดต่อไปของปี 2568 คาดว่า ค่าเชื้อเพลิง (ก๊าซธรรมชาติเหลว : LNG) โดยเฉพาะในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2568 ซึ่งคาดว่าราคา LNG จะต่ำกว่า 13 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่า 4.18 บาทต่อหน่วย เมื่อค่าไฟฟ้าลดลงก็จะส่งผลให้มีเงินมาชาระคืนหนี้ให้กับกฟผ.ได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามราคาค่าเชื้อเพลิงก็ต้องจับตามเรื่องปัจจัยความเสี่ยงด้านการเมืองระหว่างประเทศ และปัจจัยเรื่องของภัยธรรมชาติหรือโรคภัยต่างๆ ด้วยที่อาจจะกระทบต่อราคาพลังงานสูงขึ้นได้

นายพูลพัฒน์ กล่าวว่า ในกรณีที่รัฐบาลเหลือการคิดคำนวณค่า Ft ตามการศึกษาในกรณีที่ 1 คือ การคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft (จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างทั้งหมด) ค่า Ft ขายปลีกเท่ากับ 222.71 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นการเรียกเก็บตามผลการคำนวณตามสูตรการปรับค่า Ft ที่สะท้อนแนวโน้มต้นทุนเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 จำนวน 34.30 สตางค์ต่อหน่วย และเงินเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงของ กฟผ.จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) และมูลค่า AFGAS จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 188.41 สตางค์ต่อหน่วย

โดยในการคำนวณตามกรณีนี้ส่งผลให้ กฟผ.จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 – เมษายน 2567 ในช่วงสภาวะวิกฤตของราคาพลังงานที่ผ่านมา คืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2567 ก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.01 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 44 จากระดับ 4.18 บาทต่อหน่วย ในงวดปัจจุบัน แต่การคิดคำนวณค่า Ft ในงวดต่อของปี 2568 ไม่ต้องนำเอาค่าเชื้อเพลิงและอัตราแลกเปลี่ยนมาคิดคำนวณด้วยก็จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้ามีโอกาสต่ำกว่า 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีที่ไม่ต้องให้กฟผ.แบกรับภาระหนี้ เรียกได้ว่าการใช้สูตรนี้เจ็บแต่จบ