ราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี

ผู้ชมทั้งหมด 1,129 

ราคาน้ำมันดิบสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ปิดตลาดที่ 76.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ NYMEX WTI ปิดตลาดที่ 74.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาทะยานขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่องจากช่วงต้นปี ซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ 50-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาได้รับปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นหลังจากสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งใช้น้ำมันรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของโลก ต่างคลายมาตรการ Lockdown เนื่องจากขณะนี้ชาวสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด (54%) และชาวยุโรปได้รับวัคซีนประมาณ 40-60% (ยกเว้นอังกฤษ ที่ได้รับ 65%) ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้คาดหมายว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ส่วนการระบาดระลอกใหม่ในอินเดียที่รุนแรงอย่างมากในเดือน พ.ค. 64 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันในช่วงดังกล่าว เริ่มคลี่คลายลง

นอกจากนี้ อีกประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันคือการเจรจาข้อตกลงระงับโครงการนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action – JCPOA) ระหว่างอิหร่านกับชาติมหาอำนาจได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน รัสเซีย สหรัฐฯ และเยอรมนี ที่เริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 และเดิมคาดการณ์ว่าจะเจรจาลุล่วงในเดือน พ.ค. 64 หรืออย่างช้า เดือน มิ.ย. 64 แต่จวบจนปัจจุบัน ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ (หากตกลงกันได้ คาดว่าอิหร่านจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5-1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปีนี้) ล่าสุดการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในวันที่ 18 มิ.ย. 64 นาย Ebrahim Raisi ก่อนหน้ามีตำแหน่งประธานศาลสูงสุดและมีความแข็งกร้าวต่อชาติตะวันตกและปัจจุบันเป็นบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐฯ ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้การเจรจายากลำบากขึ้น

ในสัปดาห์นี้ยังมีเหตุการณ์ที่ต้องจับตาคือการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC และชาติพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 1 ก.ค. 64 เพื่อกำหนดนโยบายการผลิตน้ำมันสำหรับเดือน ส.ค. 64 เป็นต้นไป ทั้งนี้ OPEC+ เริ่มมาตรการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ COVID-19 ตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 เป็นต้นมา และทยอยเพิ่มการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการใช้น้ำมันดิบที่ฟื้นตัว

อย่างไรก็ดี ตลาดน้ำมันขณะนี้ได้รับแรงหนุนเชิงจิตวิทยา (sentiment) จากนักลงทุน เนื่องจากการที่ในตลาดมีกระแสข่าวว่าราคาน้ำมันดิบอาจกลับขึ้นไปแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล นั้นช่วยขับเคลื่อนตลาด ประกอบกับการประโคมข่าว supercycle of commodity กล่าวคือ เป็นวัฏจักรขาขึ้นของสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งน้ำมันเป็นองค์ประกอบหลักของหมวดนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่ภาวะเงินเฟ้อมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดน้ำมัน (เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการด้อยค่าของเงินได้ ทั้งนี้ สถานะการถือครองสุทธิ (Net Long Position) ของสัญญาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะ WTI ซึ่งใกล้เคียงระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรในขณะที่ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงหากเกิดการเทขาย จะส่งผลกระทบต่อราคา

นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อราคา ณ ปัจจุบันว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent มีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวในกรอบ 75-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงก่อนหน้าการประชุม OPEC+ โดยมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งการตัดสินใจของ OPEC+ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อทิศทางในอนาคต ต้องจับตาหาก OPEC และชาติพันธมิตรสามารถบริหารนโยบายการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของการใช้น้ำมัน กล่าวคือ พยายามจะรักษาสมดุลให้เกิดสภาวะที่ผลิตน้อยกว่าใช้ (deficit) เล็กน้อยตลอดทั้งปี เพื่อให้สต็อกน้ำมันโลกลดลง ขณะที่ความต้องการใช้ทยอยเพิ่มขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณเชิงบวก

ทั้งนี้ สำนักวิเคราะห์ด้านพลังงานของโลกส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าในช่วงปลายปี 2565 การใช้น้ำมันดิบจะกลับคืนสู่ระดับ 100 ล้านบาร์เรลต่อวัน เท่ากับระดับก่อนเกิด COVID-19