ผู้ชมทั้งหมด 3,025
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวในระดับสูง หลังกลุ่มผู้ผลิตปรับลดการผลิตลง คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 69-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 12 – 16 มิ.ย. 66) พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) ขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิต รวมถึง การปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.ค. 66 ที่ราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบในตลาดตึงตัว นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูง โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลงและคาดว่าจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 13 – 14 มิ.ย. ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกราว 0.25% สู่ระดับ 5.25 – 5.50% หรือจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิม โดยตลาดคาดว่าในการประชุมครั้งนี้ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยและปรับเพิ่มขึ้นในครั้งถัดไปแทน หลังอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลงมาและตลาดแรงงานเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องคาดจะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
- อุปทานการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับลดลง หลังกลุ่มผู้ผลิตมีมติขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิมที่จะปรับลดลงราว 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปี 2567 นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียได้มีการประกาศลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. 66 หรือคิดเป็นกว่า 10% ของกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย โดยซาอุฯ จะมีการทบทวนอีกครั้งว่าจะมีการขยายระยะเวลาการปรับลดหรือไม่ในเดือนหน้า ซึ่งภายหลังจากการประชุมซาอุฯ ได้มีการปรับเพิ่มราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการ (OSPs) สำหรับน้ำมันที่จะจำหน่ายในเดือน ก.ค. ไปยังทุกทวีปเพิ่มมากขึ้น
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลขับขี่ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 2 มิ.ย. ปรับลดลง 0.45 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง แม้ว่าล่าสุดปริมาณการผลิตจะแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 ที่ราว 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบ โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 7 มิ.ย. ปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 6 ติดต่อกัน
- ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับทรงตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลัง ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน ในรายงานฉบับเดือน มิ.ย. 66 EIA คงอัตราการเจริญเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันสำหรับปี 2566 และ 2567 ที่ 1.6 และ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคและผู้ผลิตสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 66 ยอดคล้าปลีกสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 66 และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกจีนเดือน พ.ค. 66
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 – 9 มิ.ย. 66) พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนที่ชะลอตัวลง รวมถึง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันและราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียลง 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ค. 66 เพิ่มเติมจากข้อตกลงเดิม โดยกลุ่มผู้ผลิตโอเปกและประเทศพันธมิตรยังได้มีมติขยายระยะเวลาของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่ราว 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปีหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดลงของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ จากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังความต้องการใช้น้ำมันปรับเพิ่มขึ้น