ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก จับตาการประชุมกลุ่มโอเปก

ผู้ชมทั้งหมด 396 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและการประชุมของกลุ่มโอเปก คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบคาดจะยังคงผันผวนและได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากความไม่แน่นอนของภาคเศรษฐกิจและตลาดจับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเรื่องการออกนโยบายเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงสนับสนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2566 เป็นต้นไป และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • จับตาการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรในวันที่ 4 มิ.ย. 66 ว่าจะมีการออกนโยบายในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากที่มีการปรับลดกำลังการผลิตลง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 หรือไม่ หลังรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ออกมาเตือนกลุ่มนักลงทุนที่มีการดำเนินการขายล่วงหน้าไว้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม รัสเซียได้เปิดเผยว่าการประชุมครั้งถัดไปจะยังไม่ได้มีการออกนโยบายเพิ่มเติม
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลขับขี่ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันหยุด Memorial Day โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 12.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 455.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 8 แสนบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นสูงขึ้น รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิมีการปรับลดลง
  • การเจรจาปรับเพิ่มเพดานหนี้ของสหรัฐฯ จากการเจรจาล่าสุดระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น หลังสามารถบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นสำหรับการปรับเพิ่มเพดานหนี้ขึ้นจากระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ ลดความเสี่ยงที่จะผิดชำระหนี้ในวันที่ 5 มิ.ย. 66 โดยทางด้านรัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการพิจารณาและต้องลงนามร่างกฎหมายซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาก่อน
  • การส่งออกน้ำมันดิบของอิรัก จากเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสสถานไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ยังคงปิดดำเนินการต่อเนื่อง โดยล่าสุดรัฐบาลอิรักได้มีการเรียกร้องให้ตุรกีดำเนินการเปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบอีกครั้ง แต่ตุรกียังไม่ได้มีการตอบรับแต่อย่างใด โดยปริมาณการส่งออกที่ผ่านท่อส่งน้ำมันอยู่ที่ราว 450,000 บาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 0.5 % ของอุปทานน้ำมันดิบโลก
  • สถานการณ์ไฟป่าในรัฐอัลเบอร์ตา ของแคนาดา เริ่มคลี่คลายลง หลังสภาพอากาศเย็นลงและมีฝนตกเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ โดยปริมาณการผลิตน้ำมันที่หายไปก่อนหน้าที่อยู่ที่ประมาณ 319,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 3.7% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของประเทศ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการจีน เดือน พ.ค. 66  ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 66 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 66

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 22 – 26 พ.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 1.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 12.5 ล้าน บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากความเป็นไปได้ที่กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะมีการออกนโยบายเพิ่มเติมในการปรับลดกำลังการผลิต เนื่องจากรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียออกมาเตือนกลุ่มนักลงทุนในตลาดการเงิน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของแคนาดาที่เริ่มกลับมา รวมถึง ความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หากไม่สามารถเจรจาในการขยายเพดานหนี้ได้และอาจจะส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้