ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว เหตุตลาดจับตา FED ถกขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ดีมานด์จีนเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 1,062 

ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว หลังตลาดจับตาการประชุมของ FED ต่อมติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของจีนปรับเพิ่มขึ้น หลังยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 3 ก.พ. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังตลาดคาดการณ์ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจปรับลดระดับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 66 อยู่ที่ 0.25% หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ขณะที่ตลาดจับตาการประชุม JMMC Meeting ของ OPEC+ ในวันที่ 1 ก.พ. 66 โดยตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มฯ ยังคงแผนเดิมในการปรับลดกำลังการผลิตที่ 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 ที่ผ่านมา

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ตลาดจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในวันที่ 31 ม.ค. – 1 ก.พ. 66 เกี่ยวกับมติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจากเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 65 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 6.5% โดยเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า FED มีแนวโน้มปรับลดระดับการขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% หรือ 25 bps ขณะที่ FED ยังคงใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินเพื่อชะลอเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ 2% ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย กดดันปริมาณปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
  • OPEC รายงานเดือน ม.ค. 66 คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สู่ระดับที่ 101.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้น้ำมันในจีนปรับเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับที่ 15.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2566 เนื่องจากจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้านสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน (CAAC) คาดการณ์จำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศของจีนปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 80% ของระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นหลังจีนเปิดประเทศเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา
  • ตลาดจับตาการประชุม JMMC Meeting ของ OPEC+ ในวันที่ 1 ก.พ. 66 นี้ โดยตลาดคาดการณ์ทางกลุ่มจะยังคงแผนเดิมในการปรับลดกำลังการผลิตที่ 2.0 ล้านบาร์เรลในเดือนพ.ย. 65 ทั้งนี้คาดว่าจะปรับลดได้จริงที่ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน สำหรับปริมาณการผลิตในเดือนธ.ค. 65 อยู่ที่ระดับ 28.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้น 91,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ทางกลุ่มจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตของทางกลุ่มต่อไป
  • ราคาแก๊ส TTF ในยุโรปปรับลดลงอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 65 ยูโรต่อเมกะวัตต์ต่อชั่วโมงในวันที่ 24 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศในยุโรปที่อบอุ่นกว่าปกติ ประกอบกับปริมาณแก๊สสำรองในยุโรปอยู่ในระดับสูงที่ราว 77% ของปริมาณสำรองทั้งหมด ขณะที่สภาพอากาศเย็นจัดกำลังแผ่ขยายไปทั่วเอเชียได้แก่ จีน เกาหลีและญี่ปุ่น โดยเฉพาะทางตอนเหนือของจีนที่มีอุณภูมิติดลบ 53 องศาเซลเซียส ทำให้ความต้องการใช้พลังงานปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาถ่านหินและแก๊สมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
  • ตลาดจับตาการหารือของยุโรปเกี่ยวกับการทบทวนการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปของรัสเซีย โดยการทบทวนการเพดานราคาน้ำมันดิบคาดจะมีการเลื่อนออกไปเป็นเดือนมี.ค. 66 และจะใช้ราคาเดิมที่ระดับ 60 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจะเริ่มหารือภายในเร็วนี้และคาดจะประกาศบังคับใช้ก่อนวันที่ 5 ก.พ. 66 นี้
  • เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ( Manufacturing PMI) เดือน ม.ค. 66 ของจีน โดยตลาดคาดว่าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน ม.ค. 66 ของยุโรป และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนม.ค. 66 ของยุโรป โดยตลาดคาดว่าจะปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 9.7%

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 23 – 27 ม.ค 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขดัชนีภาคการผลิตเดือนม.ค. 66 ที่ระดับ 46.6 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ ด้านสำนักงานพลังงานสารสนเทศของสหรัฐ (EIA) รายงานสต๊อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ม.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 448.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล  ขณะที่ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ม.ค. 66 ปรับลดลง 10 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 613 แท่น

อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจีนยกเลิกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 สนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันโลก