ผู้ชมทั้งหมด 985
ไทยออยล์ ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังตลาดจับตาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจีนช่วงวันหยุดตรุษจีน ขณะที่ดีมานด์มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 23 – 27 ม.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยตลาดคาดการณ์ว่าการซื้อขายอาจเบาบางในช่วงวันหยุดตรุษจีน ทั้งนี้ตลาดยังเฝ้าจับตาการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในประเทศยังคงน่ากังวล หลังทางการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 60,000 ราย ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับการเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันตรุษจีนอาจส่งผลให้ผู้ติดเชื้อปรับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 5 % ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐ ฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นในเดือน ก.พ. 66 อย่างไรก็ตาม แรงหนุนจากอินเดียและจีนที่ปรับเพิ่มการนำเข้าน้ำมันดิบและการเปิดประเทศของจีนยังเป็นปัจจัยสนับสนุนราคา
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน ยังคงน่ากังวล หลังคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (NHC) รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค. 65 ถึง 12 ม.ค. 66 ที่ระดับ 60,000 ราย ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังประชาชนในเมืองใหญ่มีแนวโน้มเดินทางไปเยี่ยมญาติในช่วงเทศกาลตรุษจีน
- ประธานเฟดสาขาเซนหลุยส์มีความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ยังควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5 % เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมายที่ระดับ 2 % ต่อปี แม้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 65 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 6.5 % จากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 7.1% ทั้งนี้การดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) จากผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 77,300 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 9.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 66
- หน่วยงานศุลกากรของจีน รายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน ธ.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.5% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 14.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังโรงกลั่นภายในประเทศปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับโควต้าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบรัสเซียของอินเดีย เดือน ธ.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรล สูงกว่าเดือนก่อนหน้าราว 29 % อย่างไรก็ตาม การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซีย สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 13 ม.ค. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน เม.ษ. 65
- รายงาน FGE เดือน ม.ค. 66 คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจัยการผ่อนคลายนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของจีน โดย FGE คาดการณ์ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานยังคงต่ำกว่าระดับไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อยู่ราว 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กลุ่มโอเปก (OPEC) คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของจีนปรับเพิ่มขึ้น 0.51 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจีนปรับลดนโยบายควบคุมและเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา โดย OPEC ยังคงคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกขยายตัวที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม รายงานการผลิตของกลุ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น 91,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 28.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรีย
- เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ ฯ ได้แก่ ตัวเลข GDP Q4/65 ซึ่งตลาดคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 2.8 % น้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 3.2 % และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเดือน ม.ค. 66 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ม.ค. 66 ของยุโรป
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 16 ม.ค. – 20 ม.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 83.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เผยตัวเลขจีดีพี (GDP) ของปี 2565 เติบโต 3 % เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งมากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 2.8% นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ปี 2565 ตัวเลข GDP ของจีนขยายตัว 2.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.8% อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์เนื่องจากยอดค้าปลีกปรับตัวลง 1.1 % ในเดือน ธ.ค. 65 มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.8 % และการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.7 % ในเดือน ธ.ค. 65 ด้วยเช่นกัน