ผู้ชมทั้งหมด 784
ไทยออยล์ ขี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน หลัง World Bank หั่น GDP โลกปี 2566 ขณะที่อุปสงค์ในจีนฟื้นตัวจากการแพร่ระบาด คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 71-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ระหว่างวันทีี 16 – 20 ม.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน หลังธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2566 เนื่องจากธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อชะลอเงินเฟ้อ ทำให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2566 เพื่อบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว จากการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย และรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ฟื้นตัวจากภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม รายงาน EIA เดือนม.ค. 66 คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2566 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจีนยกเลิกมาตรการ Zero-COVID ที่บังคับใช้มาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ปริมาณความต้องการน้ำมันของจีนฟื้นตัว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
▪ World Bank ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 มาอยู่ที่ 1.7% จาก 3.0% ของการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า โดยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้วได้แก่ สหรัฐฯ และยุโรปอยู่ที่ 0.5% และ 0.0% ในปี 2566 เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลาง เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก จากผลกระทบของสงครามรัสเซียยูเครน ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจจีนเติบโตที่ 4.3% จากการเปิดประเทศของจีนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากเศรษฐกิจหดตัวเพราะนโยบาย Zero-COVID เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี
▪ EIA เดือนม.ค. 66 คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบโลกปี 2566 เฉลี่ยที่ 101.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า โดยปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มปริมาณการผลิต0.55 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 12.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับเดียวกับก่อนเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 ขณะที่คาดการณ์การผลิตของรัสเซียว่าจะปรับลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าน้ำมันของรัสเซียโดยยุโรป
▪ รัสเซียปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบในโครงการ Sakhalin-1 ที่ระดับ 150,000 บาร์เรลต่อวันหรือ 65% ของกำลังการผลิตทั้งหมด และมีแนวโน้มปรับเพิ่มกำลังผลิตสู่ระดับ 220,000 บาร์เรลต่อวันภายในปี 2566 หลังจากหยุดดำเนินการชั่วคราว เนื่องจากบริษัท ExxonMobil ประกาศถอนการลงทุนในเดือนมี.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยรัสเซียได้เข้ามาดำเนินการแทนและยังคงให้บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นถือหุ้นในโครงการดังกล่าว ซึ่งรัสเซียได้ส่งออกน้ำมันดิบชนิด Sokol จำนวน 273,000 บาร์เรลต่อวันจากโครงการ Sakhalin-1 ไปยังญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไทยและสหรัฐฯ ในช่วงก่อนสงครามรัสเซียยูเครน
▪ EIA เดือนม.ค. 66 คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้น 1.05 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้าสู่ระดับ 100.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันในจีน 0.54 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 15.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ และยุโรปปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ราคาพลังงานยังคงผันผวนในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ของบริโภคมีแนวโน้มปรับลดลง
▪ ตลาดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังจีนประกาศโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบครั้งที่ 2 ของปี 2566 จำนวน 111.82 ล้านตัน หลังจากประกาศครั้งแรกในเดือนต.ค. 65 จำนวน 19 ล้านตัน เพื่อจัดสรรให้กับโรงกลั่นในประเทศปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว จากการเปิดประเทศและผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19
▪ เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ตัวเลขภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 65 ของสหรัฐฯ ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนธ.ค. 65 ของยุโรป ตัวเลข GDP Q4/65 และยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. 65 ของจีน
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2 ม.ค. – 6 ม.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเศรษฐกิจถดถอย หลังสหรัฐฯ ประกาศตัวเลขดัชนีภาคการผลิตปรับลดลงในเดือนธ.ค. 65 และเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 63 ด้าน EIA รายงานสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ม.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 439.6 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตามเนื่องจากจีนกลับมาเปิดประเทศและยกเลิกนโยบาย Zero-COVID ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปรับเพิ่มขึ้นในปี 2566 ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบที่ซื้อขายในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาถูกลงและมีความน่าสนใจมากขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น