ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว เหตุจีนคลายล๊อกดาวน์ ขณะที่ gas-to-oil switching หนุนการใช้น้ำมันโลก

ผู้ชมทั้งหมด 544 

ไทยออยล์ ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว เหตุคลายล๊อกดาวน์ในจีน  ขณะที่ gas-to-oil switching หนุนความต้องการใช้น้ำมันโลก ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจถดถอย คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 26 – 30 ก.ย. 65 พบว่า  ราคาน้ำมันดิบทรงตัว เนื่องจากตลาดคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน หลังจีนประกาศคลายล๊อกดาวน์เมืองเฉิงตู และผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในเมืองสำคัญต่างๆ ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในประเทศและของโลกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ EIA รายงานเดือน ก.ย. 65 คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2022 ในช่วง Q4’22-Q1’23 มีแนวโน้มได้แรงสนับสนุนจาก gas-to-oil switching demand เนื่องจากราคาแก๊สที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากจากอุปทานที่ตึงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจหันมาใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลกับการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก หลังธนาคารกลางทั่วโลกยังขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัว

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ตลาดคลายความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน หลังจีนประกาศคลายล๊อกดาวน์เมืองเฉิงตูตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ประชาชนในเมืองกว่า 21 ล้านคนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติอีกครั้ง แต่ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ร้านค้า และสถานที่สาธารณะต่างๆ ยังคงต้องแสดงผลการตรวจโควิด-19 ล่วงหน้า ขณะที่ในบางพื้นที่ยังคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนอย่างใกล้ชิด หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้จีนกลับมาล๊อกดาวน์อีกครั้ง
  • Rystad เดือน ก.ย. 65 รายงานความหนาแน่นของการจราจรในยุโรป (European Road Traffic) ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย. 65 ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส เนื่องจากมีการใช้รถใช้ถนนเพิ่มมากขึ้น และคาดว่ามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดยาว ประกอบกับหลายประเทศฟื้นตัวจากภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • IEA เดือน ก.ย. 65 รายงานคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 2.0 และ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2022 และ 2023 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตามลำดับ โดยปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกมีแนวโน้มได้แรงหนุนจาก gas-to-oil switching demand ในช่วงฤดูหนาว (Q4’22-Q1’23) เนื่องจากราคาแก๊สที่ปรับตัวสูงขึ้น จากอุปทานที่ตึงตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจหันมาใช้น้ำมันแทนแก๊สธรรมชาติมากถึง 700,000 บาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของปีก่อนหน้า
  • ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันโลก หลัง FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 75 bps ในการประชุมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 3.0-3.25% นอกจากนี้ธนาคารกลางทั่วโลกได้เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว
  • กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (DOE) ขยายระยะเวลาเสนอขายน้ำมันจากคลังสำรองยุทธศาตร์สหรัฐฯ (SPR) ปริมาณ 10 ล้านบาร์เรลโดยจะส่งมอบในเดือน พ.ย. 65 แทนแผนเดิมในเดือน ต.ค. 65 นี้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนเดิมทั้งหมดปริมาณ 180 ล้านบาร์เรล ล่าสุดสต๊อกน้ำมันดิบจาก SPR ของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 ก.ย. 65 ปรับตัวลดลงมากถึง 8.4 ล้านบาร์เรล และแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปี ซึ่งการปล่อย SPR นี้เพื่อช่วยบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัวและราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง
  • จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 16 ก.ย. 65 รายงานโดย Baker Hughes ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 8 แท่นสู่ระดับ 599 แท่น ส่งผลให้ EIA จากรายงานเดือน ก.ย. 65 คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นแตะระดับ 11.8 และ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดในปี 2562 ที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขภาคการผลิต (PMI) เดือน ก.ย. 65 ของจีน ซึ่งตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.4 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Sentiment) ของยุโรปเดือน ก.ย. 65 ซึ่งตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -24.9

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 73-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19 – 23 ก.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 6.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 5.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 88.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 bps ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ยังทรงตัวในระดับสูง ส่งผลให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจโลกหดตัว ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกเดือน ก.ค. และ ส.ค. 65 ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้อยุ่ 2.9 และ 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวันตามลำดับ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าทางกลุ่มอาจไม่สามารถปรับปริมาณการผลิตได้ตามเป้าที่วางไว้ในเดือนถัดไป เนื่องจากข้อจำกัดของกำลังการผลิตสำรองที่อยู่ในระดับต่ำ