ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวนในกรอบแคบ เหตุตลาดยังคงกังวล FED ขึ้นดอกเบี้ยฉุดเศรษฐกิจ

ผู้ชมทั้งหมด 422 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวนในกรอบเดิม เหตุตลาดยังคงกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของ FED กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ตลาดคาดความต้องการใช้ฤดูหนาวหนุนราคา คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 87-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 – 23 ก.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบผันผวน หลังธนาคารกลางของสหรัฐฯ (FED) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 75 – 100 bps ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับนี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ในประเทศจีนที่ยังพบผู้ติดเชื้อใหม่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากอุปสงค์การใช้น้ำมันในฤดูหนาวแทนก๊าซธรรมชาติ (gas-to-oil switching) ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่มีความไม่แน่นอน ภายหลังชาติตะวันตกและอิหร่านมีความเห็นไม่ตรงกันในเนื้อหาบางประเด็น

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8.3 %Y-o-Y สูงกว่าคาดที่ระดับ 8.1 % เช่นเดียวกับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 0.6 %M-o-M สูงกว่าเดือนก่อนที่ระดับ 0.3 % ส่งผลให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 75 – 100 bps ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 20-21 ก.ย. นี้ โดยการทำนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดของ FED อาจส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันและการเติบโตของเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
  • ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน เดือน ส.ค. 65 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.5 % Y-o-Y ลดลงจากระดับ 2.7 % ในเดือนก่อนหน้า และลดลงสวนกับที่จะเพิ่มขึ้น 2.9 % ส่งผลให้ตลาดจับตาทิศทางการกำหนดนโยบายของรัฐบาลจีน ที่มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลงอันเป็นผลจากมาตรการล๊อกดาวน์ภายในประเทศและปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงกดดันปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
  • อุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันในจีนมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังมีการขยายมาตรการล๊อกดาวน์ในหลายเมืองของจีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยรายงานของ FGE ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำมันดิบของจีนจะปรับตัวลดลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และน้ำมันอากาศยานจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากการเดินทางทางอากาศภายในประเทศที่ปรับตัวลดลง  อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังคาดว่ามาตรล๊อกดาวน์จะเริ่มมีแนวโน้มผ่อนคลายภายหลังสิ้นสุดการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.
  • รายงาน FGE เปิดเผยว่าอุปสงค์ความต้องการน้ำมันในฤดูหนาวแทนก๊าซธรรมชาติ (gas-to-oil switching) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่นเดียวกับ IEA ที่คาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติในช่วง ต.ค. 65 – มี.ค. 66 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 2 เท่า หรือ 0.7 ล้านบาร์เรลต่องวัน โดยอุปสงค์มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นภายหลังบริษัท Gazprom ของรัสเซียประกาศระงับการส่งก๊าซผ่านท่อ Nord Stream 1 แบบไม่มีกำหนด ส่งผลให้ราคาก๊าซปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
  • ตลาดคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่านจะยังไม่กลับเข้าสู่ตลาดในเร็วนี้ ภายหลังข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านครั้งใหม่เผชิญกับความไม่แน่นอน หลังกลุ่มประเทศ E3 อันประกอบด้วยเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ออกมาแสดงความกังวลต่อการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านภายหลังทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เปิดเผยว่าอิหร่านยังคงมีการสะสมแร่ยูเรเนียมเสริมสมรรถนะซึ่งมีความบริสุทธิ์เกินเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางอิหร่านมองว่าการตรวจสอบที่เกิดขึ้นมีความไม่เป็นธรรม
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) เดือน ก.ย. 65 ของสหรัฐฯ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 52.0 และตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (PMI) เดือน ก.ย. 65 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 81-91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 87-97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12 – 16 ก.ย. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 91.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 90.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความกังวลต่ออุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวเพิ่มมากขึ้น หลังรัสเซียกล่าวว่าจะระงับการจัดส่งน้ำมันและก๊าซให้แก่ชาติในยุโรป หากมีการใช้มาตรการกำหนดเพดานราคาน้ำมันของรัสเซีย ขณะที่รายงานสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ส.ค. 65 ปรับเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล เป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังมีแรงกดดันจากดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8.3 %Y-o-Y สูงกว่าคาดที่ระดับ 8.1 %