ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังทรงตัวระดับสูง เหตุตลาดกังวลอุปทานอาจตึงตัว

ผู้ชมทั้งหมด 670 

ไทยออยล์ ประเมิน ทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง หลังตลาดกังวลอุปทานมีแนวโน้มตึงตัว คาด เวสต์เท็กซัส สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 110-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4-8 ก.ค.65 พบว่าราคาน้ำมันคาดจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากความกังวลต่อภาวะอุปทานตึงตัว จากเหตุการณ์ความไม่สงบและกำลังการผลิตส่วนเกินของกลุ่มโอเปกพลัสที่อยู่ในระดับจำกัด นอกจากนี้ ราคายังได้รับการสนับสนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงฤดูการขับขี่และการเปิดเมืองของประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ราคาคาดจะได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อสภาวะการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถูกกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของโอเปกพลัสและสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง หลังปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 มิ.ย. ปรับลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 569,000 บาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นมาแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561
  • สถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบีย ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ โดยเหตุการณ์ประท้วงภายในประเทศลิเบียส่งผลให้บริษัทน้ำมันแห่งชาติต้องมีการประกาศ Force Majeure การส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มเติม ส่งผลให้ปริมาณการผลิตคาดจะมีการปรับลดลงมาแตะระดับ 600,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงค่อนข้างมากจากระดับปกติที่ราว 1.0 – 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+) เดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิมที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ราว 0.648 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. 65 เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานตึงตัวในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลว่าอุปทานจะไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้แล้ว หลังหลายประเทศเริ่มมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Spare Capacity) ในระดับต่ำ
  • การประชุมสุดยอดผู้นำ G7 ในช่วงวันที่ 26-28 มิ.ย. 65 ที่ผ่านมามีการหารือกันในการควบคุมราคาพลังงาน (price cap) ของรัสเซีย เพื่อจำกัดรายได้จากการส่งออกพลังงานของรัสเซีย โดยมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมโดยการใช้กลไกเรื่องของการทำการประกันภัยสำหรับการเดินเรือเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัจจุบันกลุ่มประเทศ G7 อยู่ระหว่างการหารือกับประเทศจีนและอินเดีย ผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ของรัสเซียในปัจจุบัน เพื่อให้เข้ามาร่วมมือ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าผลของมาตรการดังกล่าวจะค่อนข้างจำกัดเนื่องจาก ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายประเทศ และรัสเซียอาจจะมีการปรับลดกำลังการผลิตลงเพื่อให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นแทนได้
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตเพิ่มการขุดเจาะ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น โดย Baker Hughes รายงานปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 แท่นมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ มี.ค. 63 ที่ราว 595 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่า 24 เดือนติดต่อกัน ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงกว่า 12.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการจีนเดือน มิ.ย. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการการผลิตและบริหารสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. ซึ่งคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 105-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 110-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย. – 1 ก.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 108.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 3.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 111.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 106.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันเนื่องจากความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงสนับสนุนจากความกังวลอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากปริมาณการผลิตของรัสเซียที่มีแนวโน้มลดลง และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียและเอกวาดอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังโรงกลั่นปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเพื่อรองรับปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น