ผู้ชมทั้งหมด 866
ไทยออยล์ ประเมิน ราคาน้ำมันดิบผันผวนระดับสูง เหตุตลาดกังวลมาตรการคว่ำบาตรของ EU ต่อการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ขณะที่โควิด-19 ยังระบาดในจีน คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 100-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 102-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9-13 พ.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนในระดับสูง หลังจากสหภาพยุโรปประกาศแผนลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียภายใน 6 เดือน และจะสิ้นสุดการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดจากรัสเซียภายในสิ้นปี 65 นำร่องโดยเยอรมนีโดยการลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียแล้วกว่า 20% ของการนำเข้าทั้งหมด ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าภาวะอุปทานน้ำมันดิบโลกจะตึงตัวต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายเมืองใหญ่ของจีน ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และ เจิ้งโจว ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่จีนยังคงประกาศใช้นโยบายปลอดโควิด (Zero COVID) และเร่งตรวจหาเชื้อประชากรทั้งหมดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้ตลาดกังวลผลกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำมันโลก ขณะที่การใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินของ FED โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกว่า 50 bps เพื่อชะลออัตราเงินเฟ้อ อาจส่งผลให้ตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- สหภาพยุโรปประกาศแผนลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทุกช่องทางการขนส่งภายใน 6 เดือน และจะยุติการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดภายในสิ้นปี 65 ซึ่งนำร่องโดยเยอรมนี อย่างไรก็ตาม ขณะที่ฮังการีและสาธารณะรัฐเช็กซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียค่อนข้างมากยังคงลังเลต่อมาตรการดังกล่าวแม้จะได้รับการยกเว้นว่าให้ทยอยปรับลดการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียโดยสิ้นสุดภายในปี 66 ได้ก็ตาม ทั้งนี้การประกาศมาตรการคว่ำบาตรจำเป็นต้องได้รับความเห็นเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 27 ประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้
- การส่งออกน้ำมันของรัสเซียเดือนเม.ย. 65 (FGE เดือนเม.ย. 65) อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณการส่งออกไปยังยุโรปและอังกฤษปรับลดลงกว่า 700,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเริ่มสงคราม (24 ก.พ. 65) ขณะที่ปริมาณการส่งออกไปยังอินเดียเดือนเม.ย. 65 อยู่ที่ 500,000 บาร์เรลต่อวันปรับเพิ่มขึ้นเมื่อกับเดือนมี.ค. 65 อยู่ที่ 260,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้นปริมาณการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียไปยังแหล่งอื่นๆ ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน โดย FGE คาดว่าปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันของรัสเซียยังมีแนวโน้มปรับลดลงแต่อาจลดลงน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้านี้
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเมืองปักกิ่งของจีนยังคงระบาดหนัก โดยจีนเร่งตรวจหาเชื้อประชากรกว่า 22 ล้านคน และยังคงใช้มาตรการเข้มงวดโดยหยุดให้บริการรถโดยสารสาธารณะทุกชนิด ปิดโรงเรียน และห้างสรรพสินค้า เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่เมืองเซี่ยงไฮ้ยังขยายการล็อกดาวน์ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) เดือนเม.ย. 65 ปรับลดลงอยู่ที่ 47.4 ซึ่งต่ำกว่า 50 แสดงถึงกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศซบเซาลง และคาดจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มฟื้นตัว หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลด Reserve Requirement Ratio (RRR) มาอยู่ที่ 0.25% สำหรับสถาบันการเงินทุกแห่ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 65 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา
- คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 50 bps สู่ระดับที่ 0.75-1.0% ในการประชุมวันที่ 5 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา และ FED จะทยอยปรับลดขนาดงบดุลโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 65 การใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐฯ ครั้งนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส Q1/65 ปรับลดลง 1.4% Q-o-Q จากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาก และทำให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจโลกอาจเกิดภาวะ Stagflation อย่างไรก็ตาม ยังคงจับตาดูการประกาศตัวเลข GDP ไตรมาส Q2/65 ของสหรัฐฯ ครั้งถัดไปและนโยบายของ FED ในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีนประกาศดุลการค้าเดือนเม.ย. 65 ตลาดคาดการณ์มีแนวโน้มเกินดุลที่ประมาณ 22 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งเกินดุลที่ประมาณ 47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยุโรปเดือนพ.ค. 65 ตลาดคาดกาณ์ดัชนีดังกล่าวปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 100-112 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 102-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2 – 6 พ.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 4.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 112.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 107.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง EIA รายงานสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 เม.ย. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล สวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง และสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังคงระบาดหนักในหลายเมืองใหญ่ของจีน ส่งผลให้จีนยังขยายการล็อกดาวน์และใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพ่ระบาด ซึ่งเป็นปัจจับที่มีผลต่อการกดดันตลาดน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันโลกตึงตัวจากผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตร หลังจากสหภาพยุโรปประกาศพิจารณาลดการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซียโดยสิ้นสุดภายในปี 65