ผู้ชมทั้งหมด 962
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นิ้ ผันผวนในระดับที่ต่ำลง หังตลาดคาดการเจรจาสันติภาพรัสเซียยูเครนอาจเห็นข้อสรุปมากขึ้น ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดในจีนกดดันตลาด คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 95-105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 97-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 21 -25 มี.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลงเล็กน้อยแต่ยังคงผันผวนเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณการเจรจาสันติภาพจากทั้ง 2 ฝ่ายต่อในครั้งถัดไปซึ่งอาจเห็นข้อสรุปมากขึ้น แต่การสู้รบก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีแนวโน้มคืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับแรงกดดันจากข่าวการแพร่ระบาดของโควิดในจีน ซึ่งล่าสุดจีนประกาศล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นจึงสร้างความกังวลต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- การเจรจาครั้งถัดไประหว่างรัสเซียและยูเครนอาจเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากประธานาธิบดีของทั้ง 2 ฝ่ายเห็นด้วยที่จะมีการเจรจาแบบสันติภาพและเห็นข้อสรุปมากขึ้น ขณะที่การสู้รบยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยกองทัพทหารของรัสเซียได้ยึดเมืองมาริอูโปล เมืองท่าที่สำคัญของยูเครนได้สำเร็จ และทิ้งระเบิดในเมืองเคียฟอย่างหนัก จนทำให้ยูเครนต้องขยายภาวะฉุกเฉินอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 15-17 มี.ค. 65 อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์และการเจรจาครั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบผันผวนมากขึ้น
- การประชุมข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน JCPOA มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังจากถูกเลื่อนออกไปก่อนหน้านี้ จากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ตาม รัสเซียออกมาปฏิเสธถึงต้นเหตุของความล่าช้าดังกล่าว ทางด้านอิหร่านประกาศจุดยืนชัดเจนในเรื่อง Nuclear Program และเรียกร้องให้สหรัฐฯ รื้อฟื้นข้อตกลงดังกล่าวให้เร็วที่สุดรวมถึงยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมด โดยสามารถทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง ซึ่งอาจช่วยบรรเทาสถานการณ์อุปทานน้ำมันดิบที่ตึงตัว และราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นมาก
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ยังคงระบาดหนักในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชีย ล่าสุดจีนประกาศ ล็อกดาวน์เมืองเซินเจิ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 20 มี.ค. 65 หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 พันคนต่อวัน รายงานจาก WHO ณ วันที่ 13 มี.ค. 65 ขณะที่ฮ่องกงและไทย พบผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานมาตรการล็อกดาวน์หรือจำกัดการเดินทางเพิ่มเติม ที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในอนาคต
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องปริมาณการขุดเจาะน้ำมันดิบ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 มี.ค. 65 รายงานโดย Baker Hughes ปรับเพิ่มขึ้น 13 แท่น สู่ระดับ 663 แท่น ขณะที่รายงานสถานการณ์น้ำมันดิบประจำเดือนมี.ค. 65 ของ EIA คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำดิบของสหรัฐฯ ปี 2565 และ 2566 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 0.76 และ 0.63 ล้านบาร์เรลต่อวันสู่ระดับ 12.0 และ 12.6 ล้านบาร์เรลต่อวันตามลำดับ เพื่อบรรเทาราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
- เวเนซูเอลาอาจกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง หลังจากการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีของเวเนซูเอลาถึงการยกเลิกหรือลดมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซูเอลาเพื่อบรรเทาอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัว สำหรับการผลิตน้ำมันของเวเนซูเอลาอาจเพิ่มขึ้นถึง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง Chevron สามารถเพิ่มแท่นขุดเจาะมากขึ้น
- การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 15-16 มี.ค. ที่ผ่านมา ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อยู่ที่ 0.25-0.50% เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก คาดอาจทำให้ค่าเงินสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันที่ซื้อขายในสกุลเงินดอลลาห์สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 65 ของอังกฤษ โดยตัวเลขเดือนก่อนหน้าเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ที่ 4.4% และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเดือน มี.ค. 65 ของสหรัฐฯ ที่ตลาดคาดอาจปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยแตะที่ 56.0 อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวที่เหนือ 50.0 สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัว
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 95-105 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 97-115 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 14 – 18 มี.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 104.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 4.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 107.93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 106.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังมีสัญญาณที่ดีของการเจรจาครั้งถัดไประหว่างรัสเซียและยูเครน
ขณะที่ยูเครนประกาศไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ NATO ตาม 1 ใน 3 เงื่อนไขการเรียกร้องของรัสเซีย และ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 4.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 415.9 ล้านบาร์เรล ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 มี.ค. 65 อาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวน้อยลง