ผู้ชมทั้งหมด 1,070
“ไทยออยล์” ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มทรงตัว หวังตลาดกังวลการแพร่ระบาดของ “โอไมคอรน” ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คาด เวสต์เท็กซัส อยู่ในกรอบ 69-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 20 – 24 ธ.ค. 64 พบว่า แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบทรงตัว จากความกังวลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หลายประเทศในแถบยุโรปได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมาระบุว่าเชื้อไวรัสสายพันธ์โอไมครอนมีอัตราการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดิม ขณะที่ด้านอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังสหรัฐฯ ปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาตร์ เพิ่มรักษาสเถียรภาพราคาน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนหลัง FED ออกมาให้ความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการในช่วงฤดูหนาว
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ที่ทำให้หลายประเทศในแถบยุโรปออกมาตรการจำกัดการเดินทางเพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดดังกล่าว เช่น เนเธอร์แลนด์และอิตาลีได้ขยายระยะเวลาเคอร์ฟิวไปจนถึงหลังปีใหม่และวันที่ 31 มี.ค. 2565 ตามลำดับ นอกจากนี้วัคซีนต่างๆ ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจะยับยั้งการแพร่ระบาดได้ อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็มสามอาจจะช่วยลดความรุนแรงของสายพันธุ์โอไมครอนได้บ้าง
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกปีนี้และปีหน้าลง 100,000 และ 170,000 บาร์เรลต่อวันตามลำดับ เทียบกับคาดการณ์เมื่อเดือนก่อนหน้า โดยความต้องการใช้จะเติบโตอยู่ที่ 5.4 และ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ หลังได้รับแรงกดดันจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ที่แพร่ระบาดแล้วในหลายประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตาม รายงานประจำเดือนธันวาคมของโอเปกมีการปรับเพิ่มคาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลกในไตรมาสแรกของปี 2565 ขึ้นเฉลี่ยที่ 1.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนก่อนหน้า แตะระดับ 99.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- สหรัฐฯ มีแผนปล่อยน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาตร์จำนวน 50 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปล่อยแล้วจำนวน 18 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันไม่มากนัก
- หลังการประชุมของ FED สัปดาห์ที่แล้วได้ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเร่งยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายทางเงินที่อาจสิ้นสุดได้ในเดือนมี.ค. ปีหน้า ทั้งนี้เพราะ FED เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สนับสนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- ราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางสต๊อคที่ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงหน้าหนาวของแถบยุโรป ประกอบกับความกังวลของการหยุดส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียและความล่าช้าในการวางท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 ส่งผลให้ราคาพลังงานอื่นๆในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนต.ค. ของสหภาพยุโรป ยอดค้าปลีกเดือนพ.ย. ของอังกฤษ และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนพ.ย. ของเกาหลีใต้ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.9% ในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 69-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 73-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 13 – 17 ธ.ค. 64 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม การประชุมของ FED ที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งเร่งยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายทางเงิน เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สนับสนุนปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน