ผู้ชมทั้งหมด 819
ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวนในกรอบเดิม หลังจาก ปธน. ไบเดน หารือสกัดราคาพลังงาน ท่ามกลางปริมาณการใช้ทั่วโลกเพิ่มขึ้น คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP ประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 15 – 19 พ.ย. 64 พบว่า ราคาน้ำมันดิบผันผวนในกรอบเดิม หลังสหรัฐฯ ยังคงยืนยันว่าอาจพิจารณาระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงอย่างทุกวันนี้ สถานการณ์ทางด้านรัสเซียมีแผนกลับมาส่งออกแก๊สไปทางฝั่งยุโรปเพิ่มขึ้น ทำให้ความกังวลต่อวิกฤติพลังงานเริ่มบรรเทาลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากปริมาณการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น หลังหลายประเทศมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายการลงทุนโครงสร้างพิ้นฐาน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ปริมาณการนำเข้าและการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น
สำหรับ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย…
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 5 พ.ย. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนอาจพิจาณาระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันเบนซินในประเทศ ส่งผลให้ตลาดคาดว่าอาจมีอุปทานเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้น
ราคาน้ำมันดิบคาดว่าปรับตัวลดลง จากที่มีการคลี่คลายของสถานการณ์ Gas-to-Oil Switch ที่ทางด้านรัสเซียเริ่มกลับมาส่งออกแก๊สไปทางฝั่งยุโรปเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะผลิตเพิ่มขึ้นได้ราวๆ 170 million cubic metres (mcm) ในเดือนนี้ ทำให้ราคาแก๊สปรับลดลง ปริมาณการใช้แก๊สเพิ่มขึ้น และลดปริมาณการสับเปลี่ยนการใช้น้ำมันดิบลง
ทางฝั่งจีนที่มีการพบการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้มีการเพิ่มมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงการจำกัดการเดินทางเข้าออกระหว่างประเทศ ปริมาณการจองเที่ยวบินลดลง 13% อาทิตย์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในหลายประเทศที่มีมาตรการผ่อนปรนล็อคดาวน์ เช่น อินโดนิเซีย มาเลเซีย และอินเดีย โดยเฉพาะประเทศอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้น้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับสามของโลก มีการนำเข้าน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ในช่วงเทศกาล Diwali Day บวกกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาคึกคักขึ้นอีกครั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด 19
ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น หลังจากที่สหรัฐฯ กลับมาเปิดประเทศอีกครั้งตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ย. 64 เป็นต้นไป และล่าสุดสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ มีมติเห็นชอบการอนุมัติงบประมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแผนการลงทุนต่อถนน ระบบรางและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ปริมาณการนำเข้าและการใช้น้ำมันดิบในประเทศเพิ่มสูงขึ้น
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ อังกฤษประกาศตัวเลขดุลการค้าเดือน ก.ย. และอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. เช่นเดียวกับ EU ที่จะประกาศตัวเลขดุลการค้าเดือน ก.ย. และอัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. ส่วนทางด้านญี่ปุ่นประกาศผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 (ประมาณการเบื้องต้น) จีนประกาศการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับลดลง จากการกำหนดโควต้าการนำเข้าน้ำมันดิบในประเทศ และสหรัฐประกาศยอดค้าปลีกเดือน ต.ค.
ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 8 – 12 พ.ย. 64 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายหลังราคาพลังงานอย่างถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่เริ่มกลับมาคลี่คลายและปรับตัวลดลง
รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนเดือน ต.ค. ปรับตัวลงลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2018 จากการกำหนดโควต้าปริมาณการนำเข้าน้ำมันในประเทศ และโรงกลั่นในประเทศที่ชะลอการน้ำเข้าน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ออกมาประกาศตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเดือนตุลาคมซึ่งใช้เป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นถึง 6.2% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา อาจทำให้ FED ดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ