ผู้ชมทั้งหมด 118
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงผันผวนต่อเนื่องจากการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของทรัมป์ ต่อประเทศต่างๆท่ามกลาง OPEC+ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มเกินคาด มองเวสต์เท็กซัส จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 4 – 10 เม.ย. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดกังวลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามบังคับใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ระดับ 10% สำหรับทุกประเทศนับตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 68 นี้ นอกจากนี้สหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศที่นำเข้าสินค้าจากอิหร่านเนื่องจากอิหร่านปฏิเสธการเจรจาเพื่อยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านกับสหรัฐฯ ในขณะที่ทรัมป์เตือนว่าอาจมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราราว 25-50%จากผู้ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เนื่องจากมองว่ารัสเซียกำลังขัดขวางความพยายามในการยุติสงครามในยูเครน ขณะที่อิสราเอลกลับมาปฏิบัติการทางทหารในเมือง Rafah ใน Gaza อีกครั้ง ซึ่งสร้างความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบ
อย่างไรก็ตาม OPEC+ มีมติปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ0.411 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 68 มากกว่าแผนเดิมที่จะเพิ่มการผลิต นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
• ตลาดกังวลผลกระทบจากนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐฯ เนื่องจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามบังคับใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ที่ระดับ 10% สำหรับทุกประเทศนับตั้งแต่วันที่ 5เม.ย.68 นี้ ก่อนที่อัตราภาษีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับครึ่งนึงของอัตราที่แต่ละประเทศเรียกเก็บจากสหรัฐฯ ในวันที่ 9 เม.ย. 68 โดยสหภาพยุโรปจะถูกเรียกเก็บที่ระดับ 20% ขณะที่จีนจะถูกเรียกเก็บเพิ่มเติมอีก 34% ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจะอยู่ที่ระดับ 54% การประกาศบังคับใช้มาตรการดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลกระทบให้ต้นทุนราคาสินค้าต่างๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
• ตลาดยังกังวลสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 68 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยว่าสหรัฐฯ จะโจมตีอิหร่าน และจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศที่นำเข้าสินค้าจากอิหร่าน หลังอิหร่านปฏิเสธการเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่าน เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 68 ทั้งนี้ อิหร่านเน้นย้ำว่าโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน มีจุดประสงค์ด้านพลังงานพลเรือนแต่เพียงอย่างเดียว และไม่มีวาระแอบแฝงในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างที่โดนกล่าวหา
• นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลด้านอุปทานน้ำมันจากการที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์เตือนว่าอาจมีการเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราราว 25-50% จากผู้ซื้อน้ำมันจากรัสเซีย เนื่องจากมองว่ารัสเซียกำลังขัดขวางความพยายามในการยุติสงครามในยูเครน
• ตลาดยังคงจับตาความไม่สงบในตะวันออกกลาง หลังเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 68 โฆษกกองทัพอิสราเอล นาย Avichay Adraee ประกาศกลับมาปฏิบัติการทางทหารในเมือง Rafah ใน Gaza อีกครั้งและให้ประชาชนเคลื่อนย้ายจากตัวเมืองไปที่หลบภัย al-Mawasi ซึ่งตั้งอยู่ติดแถบชายทะเลในเมือง Rafah ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์รายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 900 ราย นับตั้งแต่อิสราเอลเปิดฉากโจมตีอีกครั้งในวันที่ 18 มี.ค. 68 หลังสิ้นสุดข้อตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 68
• อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 68 คณะกรรมการรัฐมนตรี (JMMC)ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (OPEC+) มีมติปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันดิบ 0.411ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค. 68 มากกว่าแผนเดิมที่จะเพิ่มการผลิตที่ระดับ 0.138 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน เม.ย. 68 – ก.ย. 69 หลังจากที่ได้ตกลงเพิ่มการผลิตในเดือน เม.ย. 68 ไปก่อนหน้านี้
• เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น เนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 50.5 ในเดือน มี.ค. 68 จากระดับ 50.2 ในเดือน ก.พ. 68 โดยถือเป็นอัตราการขยายตัวที่รวดเร็วที่สุดในรอบ 1 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัว โดยรัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจที่ประมาณ 5% ในปีนี้
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน มี.ค. 68 และดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน มี.ค. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรปได้แก่ ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 68 และดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน มี.ค. 68 และดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน มี.ค. 68
ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 28 – 3เม.ย. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 66.95เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่70.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลัง สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 มี.ค. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 6.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 439.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Caixin/S&P Global รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers’ Index) ของจีนในเดือน มี.ค. 68 เพิ่มขึ้น 0.4 จุด เทียบกับเดือน ก.พ. 68 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด โดยเป็นการปรับเพิ่มสูงสุดในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ ดัชนีมากกว่า 50 จุด บ่งชี้ภาวะขยายตัว ขณะที่รัสเซียสั่งปิดท่าเทียบเรือขนส่งน้ำมันหลัก 2 แห่งจากทั้งหมด 3 แห่ง ที่รับน้ำมันจากคาซัคสถานเพื่อส่งออก ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างคาซัคสถานและกลุ่ม OPEC+ เนื่องจากคาซัคสถานมีการผลิตน้ำมันเกินโควต้า และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มี.ค. 68