ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ท่ามกลางอุปทานที่ตึงตัว

ผู้ชมทั้งหมด 443 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มถูกกดดันจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ท่ามกลางอุปทานที่ตึงตัว คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 77 – 84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 80 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ 28 ส.ค. – 1 ก.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวลงทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ ซึ่งสะท้อนจากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเดือน ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ที่ยังคงปรับลดลงต่อเนื่องในสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีการเผชิญกับปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์จากการผิดชำระหนี้ รวมถึง ปัญหาสภาพคล่องในสถาบันการเงิน 

อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มตึงตัว หลังคาดการณ์ว่าซาอุดิอาระเบียจะมีการขยายมาตรการในการปรับลดกำลังการผลิตออกไปอีก 1 เดือน และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะมีการปรับลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ของสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งในช่วงฤดูร้อน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

▪ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องและคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ จากปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่มีการชะลอตัวลงและส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในหลายภาคส่วนโดยบริษัท Country Garden ซึ่งถือเป็นบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของจีน มีปัญหาในการผิดชำระหนี้หุ้นกู้และอยู่ระหว่างการพยายามในการเจรจาเพื่อยืดระยะเวลาการชำระออกไป รวมถึง บริษัท Zhongrong International Trust หนึ่งในบริษัททรัสต์รายใหญ่ของจีน ที่ไม่สามารถชำระเงินให้กับนักลงทุนได้ ทั้งนี้ ปัญหาสภาพคล่องดังกล่าวส่งผลให้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีประเภท 1 ปี (LER) ลงจาก 3.55% เป็น 3.45% นับเป็นการการลดดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน

▪ เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป เผชิญกับความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและธนาคารกลางทั่วโลกที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ระดับ 47.0 และ 51.0 ตามลำดับ โดยมีการปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 49.0 และ 52.3 ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและบริการของยุโรปในเดือน ส.ค. 66 ยังชะลอตัวลงต่อเดือนโดยอยู่ที่ระดับ 43.7 และ 48.3 ตามลำดับ

▪ อุปทานน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปกนำโดยซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตไปอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปอีก 1 เดือนเป็นสิ้นสุดเดือน ต.ค. 66 เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งนี้คาดว่าซาอุดิอาระเบียจะมีการประกาศภายในสิ้นเดือน ส.ค. 66

▪ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดว่าจะคงกำลังการกลั่นในระดับสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้น ณ วันที่ 18 ส.ค. ปรับลดลง 6.1 ล้านบาร์เรล มาแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี2563 ที่ราว 433.5 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี

▪ จับตาการเจรจาระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ และเวเนซุเอลา หลังมีแหล่งข่าวเปิดเผยว่าสหรัฐฯ อาจจะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร หากเวเนซุเอลามีการจัดการเลือกตั้งในปีหน้าอย่างยุติธรรมและโปร่งใส โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ ได้อนุมัติให้บริษัท Chevron และบริษัทน้ำมันต่างชาติในยุโรป เพิ่มกำลังการผลิตในเวเนซุเอลาเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาเดือน ก.ค. 66 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 0.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน

▪ รัฐบาลอิรักและตุรกี อยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับการเปิดดำเนินการท่อส่งออกน้ำมันดิบจากอิรักไปยังตุรกี ซึ่งมีกำลังการขนส่งรวมทั้งสิ้น 450,000 บาร์เรลต่อวัน หลังท่อขนส่งดังกล่าวมีการปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 66 และส่งผลให้อิรักต้องมีการปรับลดการผลิตลง เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้

▪ เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ การจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 66 GDP ไตรมาส 2/2566 ของสหรัฐฯ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของจีน เดือน ส.ค. 66

ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 77 – 84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80 – 87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 21 – 25 ส.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 84.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 86.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดกังวลต่อเศรษฐกิจและการใช้น้ำมันของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาในภาคอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึง ปัญหาสภาพคล่องในหลายภาคส่วน 

นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจาก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเพื่อชะลอผลกระทบของอัตราเงินเฟ้อ 

อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้และปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดใน 3 ปี จากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น