ผู้ชมทั้งหมด 93
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวนในกรอบแคบ หลังตลาดกังวลต่อมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อน้ำมันรัสเซีย ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอ คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16 – 20 ธ.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนในกรอบแคบ หลังการเปลี่ยนอำนาจครั้งสำคัญในซีเรียอาจส่งผลให้ฉากทัศน์ของความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งดำเนินอยู่ก่อนหน้านี้เปลี่ยนไปและกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบภายในภูมิภาค นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ยังคงสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้ ประกอบกับแรงหนุนจากการปรับเปลี่ยนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง (Politburo) อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนซึ่งประกาศออกมาบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังคงไม่เพียงพอ
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
• สถานการณ์ในตะวันออกกลางยังคงน่ากังวล หลังกลุ่มกบฎในซีเรียโค่นล้มรัฐบาลของนายบาชาร์ อัล-อัสซาดลงได้ โดยหลายฝ่ายคาดเหตุการณ์นี้อาจทำให้อิทธิพลของอิหร่านและรัสเซียในภูมิภาคดังกล่าวปรับลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ และอาจส่งผลต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังต้องจับตาการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจในซีเรีย ภายใต้การนำของกลุ่มกบฎฮายัต ทาห์รีร์ อัล-ชาม (HTS) ซึ่งหลายฝ่ายคาดว่าจะได้รับเงินทุนในการสู้รบจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางอย่างซาอุดิอาระเบีย ซึ่งมีเชื้อสายซุนนีเช่นเดียวกัน ว่าจะเกิดความรุนแรงภายในประเทศ และลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งจะกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบหรือไม่
• ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) พร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามแผนที่วางไว้ที่ระดับ 0.25% ในการประชุมซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 ธ.ค.นี้ หลังอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับ 2.7% เท่าที่กับตลาดคาดการณ์ เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.3% เท่ากับคาดการณ์เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยได้ตามแผนที่วางไว้ แต่การดำเนินนโยบายทางการเงินของ FED ในปีหน้ายังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญจากการที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่
• มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนถัดจากนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อภาพของเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยยะเพิ่มขึ้น หลังคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง (Politburo) ปรับแนวนโยบายทางการเงินของประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี จากการดำเนินนโยบายแบบ “ระมัดระวัง” (prudent) ซึ่งทำมานับตั้งแต่ปี 2011-2024 มาเป็นการดำเนินนโยบายแบบ “ผ่อนคลายอย่างปานกลาง” (moderately loose) ซึ่งจะดำเนินผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อให้มีสภาพคล่องในระบบการเงินเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยก่อนหน้านี้จีนเคยดำเนินการด้วยนโยบายนี้ครั้งนึงในช่วงการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกช่วงปี 2008 นอกจากนี้คำสัมภาษณ์ของนายสี จิ้นผิง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ส่งสัญญาณชัดเจนถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ เพื่อต้องการให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน (GDP) ในปี 2568 เติบโตไม่น้อยกว่า 5% YoY
• เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนแอภายหลังสำนักสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 0.2% ย่อตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 0.3% นอกจากนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเปรียบระหว่างเดือนที่ผ่านมา (M-o-M) พบว่าอยู่ที่ระดับ -0.6% และเร่งตัวขึ้นจากเดิมที่ระดับ -0.3% จากตัวเลขดังกล่าวทั้งสองบ่งชี้ว่าจีนยังคงอยู่ในภาวะเงินฝืดและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาก่อนหน้านี้นั้นยังคงไม่เพียงพอ
• นอกจากนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สำคัญของจีน ซี่งประกาศออกมา อาทิ ตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือน พ.ย. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.7% ชะลอตัวลงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 12.7% และต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 8.5% โดยตัวเลขการส่งออกนี้คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นภายหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่งของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ในช่วงเดือน ม.ค. 68 ที่จะถึงนี้ ด้านตัวเลขการนำเข้ามีการหดตัวลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยอยู่ที่ระดับ -3.9% ในเดือน พ.ย. 67 ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ -2.3% สะท้อนถึงความต้องการใช้ภายในประเทศที่ยังคงอ่อนแอและย่อมส่งผลต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ อันได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีกเดือน พ.ย. 67, ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 67 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 67 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน พ.ย. 67 อันได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก, ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม, อัตราการว่างงาน และตัวเลขการลงทุนในสินทรัพย์คงที่
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9 – 13 ธ.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น3.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 73.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังคณะเอกอัครราชทูตของสหภาพยุโรปมีมติเห็นชอบต่อมาตรการการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งพุ่งเป้าไปที่การลักลอบขนส่งน้ำมันของรัสเซีย หลังหลีกเลี่ยงเพดานราคาน้ำมันที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลที่ทางกลุ่ม G7 ได้กำหนดไว้สำหรับควบคุมการขนส่งน้ำมันดิบทางทะเลของรัสเซียในปี 2565 โดยการคว่ำบาตรนี้มีขึ้นภายหลังจีนได้ออกมาตรคว่ำบาตรต่อชิ้นส่วนโดรนที่ชาติตะวันตกให้การสนับสนุนในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน
นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากการที่จีนจะมีแผนใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างเหมาะสมในปี 2568 เป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี และจะมีมาตรการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ธ.ค. 67 ปรับลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 422 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 0.9 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันหลังโอเปกประกาศปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันประจำปี 2567 ที่ระดับ 1.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับ 1.82 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันประจำปี 2568 ที่ระดับ 1.45 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยลดลงจากระดับ 1.54 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันที่ยังคงอ่อนตัวลงในจีน