ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้อาจผันผวน จากเหตุความไม่สงบในตะวันออกกลาง

ผู้ชมทั้งหมด 443 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวน จากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง ขณะที่ตลาดคาดเฟดและธนาคารกลางยุโรปพร้อมปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่ไม่ชัดเจน คาดเวสต์เท็กซัส จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14 – 18 ต.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่มีการโจมตีต่อเนื่องท่ามกลางการเจรจาหาข้อยุติหยุดยิง ขณะเดียวกัน ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดและและธนาคารกลางยุโรปพร้อมปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันหลังตัวเลขเงินเฟ้อและตลาดแรงงานดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังการแถลงการณ์เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน และผลกระทบของพายุเฮอริเคนมิลตันหลังพายุพัดเข้าฝั่งบริเวณฟลอริดาคาดสร้างความเสียหายและกระทบอุปสงค์น้ำมัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

• สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดตลาดจับตาท่าทีของอิสราเอลในการตอบโต้อิหร่าน โดยหากอิสราเอลโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่านอาจสร้างความเสียหายกับอุปทานน้ำมันดิบกว่า 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าหากเกิดเหตุการณ์จริงอาจทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาอาจจะไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากหลายฝ่ายคาดว่าสมาชิกกลุ่มโอเปกอย่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน (spare capacity) จะสามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานจากอิหร่านที่ลดลงได้

• อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รองเลขาธิการกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ประกาศสนับสนุนความพยายามของประธานรัฐสภาเลบานอนที่จะหาทางเจรจาหยุดยิงกับอิสราเอลหลังอิสราเอลมีการยกระดับการปฏิบัติการทางทหารภาคพื้นดินและอากาศโจมตีทางตอนใต้ของเลบานอนและสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ นับเป็นครั้งแรกหลังก่อนหน้านี้ยืนยันว่าจะหยุดโจมตีอิสราเอลก็ต่อเมื่อมีการหยุดยิงในฉนวนกาซาเท่านั้น

• ตลาดคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมนโยบายวันที่ 16-17 ต.ค.นี้ โดยคาดว่าจะมีการปรับลดลงอีก 6 ครั้ง ครั้งละ 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 2% ภายในสิ้นปี 2568 ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมันให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเขตยูโรโซนปรับตัวลดลงแตะระดับ 1.8% ในเดือน ก.ย. 67 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดการณ์ก่อนหน้า และต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2%

• ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มดีขึ้น โดยล่าสุดโกลด์แมน แซคส์ได้ปรับลดคาดการณ์โอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าลงจาก 25% เหลือ 15% หลังการเปิดเผยตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือน ก.ย. แข็งแกร่งกว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่าอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. 67 ปรับลดลงสู่ระดับ 4.1% ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือน พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ครั้งละ 0.25% และคาดว่าจะปรับลดต่อเนื่องจนแตะระดับ 3.25-3.5% ภายในเดือนมิ.ย. 2568

• อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงกดดันจากความผิดหวังของตลาดต่อการแถลงการณ์ของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) ที่ไม่ได้บ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพิ่มเติม รวมถึงไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงจับตาดูทิศทางนโยบายหลังสำนักงานสารนิเทศของสภาแห่งรัฐจีน (SCIO) จะจัดแถลงข่าวเกี่ยวกับนโยบายการคลังในวันเสาร์นี้ (12 ต.ค.) โดยคาดว่าจะมีการนำเสนอมาตรการต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของนโยบายการคลัง โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

• ตลาดคาดการณ์ผลกระทบจากพายุเฮอริเคนมิลตันหลังพัดเข้าฝั่งทางตะวันตกของรัฐ ฟลอริดาของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผู้ว่าการรัฐฟลอริดาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและคาดว่าพายุจะสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนและประชาชน ทั้งนี้พายุเฮอริเคนลูกใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่เพิ่งประสบภัยจากพายุเฮอริเคนเฮลีนที่ได้พัดถล่มหลายรัฐในอเมริกาในช่วงปลายเดือนก่อน ทั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันให้ปรับตัวลดลง

• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 67 ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีก และดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรม เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 67 ดุลการค้าเดือน ส.ค. 67 และดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/67 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเดือน ก.ย. 67 และอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. 67

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7 ต.ค. – 11 ต.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 78.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงตึงเครียดโดยกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีเมือง Haifa ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของอิสราเอลในวันที่ 7 ต.ค .ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้ผลิตน้ำมันบางรายในอ่าวเม็กซิโกของสหรัฐอเมริกาได้ทยอยระงับการผลิตและอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันจากผลกระทบของพายุเฮอร์ริเคนมิลตัน

อย่างไรก็ตาม ตลาดคลายกังวลเล็กน้อยหลังกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยอมเจรจาหยุดยิงกับอิสราเอลเป็นครั้งแรกแม้ก่อนหน้านี้จะยืนยันว่าจะหยุดโจมตีอิสราเอลก็ต่อเมื่อมีการหยุดยิงในฉนวนกาซาเท่านั้น ขณะเดียวกันสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 ลง 3 หมื่นบาร์เรลต่อวันเป็นเติบโตที่ระดับ 9 แสนบาร์เรลต่อวันต่อวัน และปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2568 ลง 3 แสนบาร์เรลต่อวันเป็นเติบโตที่ระดับ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ต.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 5.8 ล้านบาร์เรลสู่ระดับ 422.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่ม 2.0 ล้านบาร์เรล