ผู้ชมทั้งหมด 534
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังสงครามที่ยังคงมีต่อเนื่อง และเฟดคาดปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ท่ามกลางเศรษฐกิจจีนที่ยังคงฟื้นตัวช้า คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่าววันที่ 22 – 26 ก.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) คาดการณ์ว่าจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน ก.ย. 67 นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ปี 67 เพิ่ม อย่างไรก็ตาม โรงกลั่นน้ำมันในจีนมีการผลิตลดลงในเดือน มิ.ย. 67 บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง ขณะที่จำนวนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวเดี่ยวในสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 67 ปรับลดลง สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 66
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
สถานการณ์ความตึงเครียดในระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ยังคงคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดงจำนวน 2 ลำ ถูกโจมตีที่เมืองท่าโฮไดดาห์ของเยเมน ส่งผลให้เรือเกิดความเสียหายบางส่วน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาแสดงออกมารับผิดชอบ ในขณะที่ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย และยูเครน ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง หลังล่าสุดยูเครนได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้อาวุธที่ส่งมาช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอื่นๆ เพื่อโจมตีรัสเซียได้ ด้วยอาวุธใหม่ อาทิ ขีปนาวุธ Army Tactical Missile System (ATACMS) ซึ่งส่งผลให้ยูเครนสามารถโจมตีระยะไกล โดยก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ เกรงว่าสงครามจะบานปลาย จึงไม่อนุญาตให้ยูเครนใช้อาวุธเพื่อโจมตีรัสเซียโดยจํากัดการใช้งานภายในพื้นที่ยูเครนภายใต้การยึดครองของรัสเซียเท่านั้น ส่งผลให้ตลาดยังคงกังวลต่อผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบ
ตลาดจับตาท่าทีการปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เนื่องจากล่าสุดประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นายเจอโรม พาวเวลล์ เผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาในไตรมาสที่ 2 ทั้งหมด 3 ครั้ง ได้เพิ่มระดับความมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงเข้าใกล้เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไม่ช้านี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของจีน ปี 67 เพิ่ม 0.4% จากคาดการณ์ครั้งก่อน มาอยู่ที่ระดับ 5.0% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หลังการบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกในไตรมาส 1/67 ฟื้นตัว ทั้งนี้ IMF คงการคาดการณ์ GDP โลก ในปี 2567 อยู่ที่ระดับ 3.2% เทียบกับช่วงเดียวกันจากปีที่แล้ว (คงที่จากประมาณการณ์เดือน เม.ย. 67)
ตลาดน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 17 สัปดาห์ ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ มีราคาถูกลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นๆ
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มอ่อนแออย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจีนประจำไตรมาส 2 ของปี 2567 ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของช่วงปีก่อนหน้า ซึ่งถือเป็นอัตราเติบโตที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2566 บ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจจีนที่ยังคงเปราะบาง ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในจีนมีการผลิตลดลงในเดือน มิ.ย. 67 โดยถือเป็นระดับต่ำสุดของปีนี้ ส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์
นอกจากนี้ จำนวนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยแบบครอบครัวเดี่ยวในสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 67 ปรับลดลง 2.2% อยู่ที่ 980,000 หลัง สู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 66 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับที่อยู่อาศัยสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขยอดขายบ้านเดือน มิ.ย. 67 ตัวเลขจีดีพี ประจำไตรมาส 2/67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ อัตราการเติบโตกำไรภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 67 เทียบปี 66
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 15 – 19 ก.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นจีนนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) เดือน มิ.ย. 67 ลดลง 3.7% เทียบกับปีก่อนหน้า มาแตะที่ระดับ 14.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ ธ.ค. 66 ขณะที่รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน (Industrial Production) เดือน มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้นเพียง 5.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และยอดขายปลีก (Retail Sales) เพิ่มขึ้นเพียง 2% เทียบกับช่วงเดียวกันจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 65 นอกจากนี้ Goldman Sachs ปรับลดการคาดการร์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจีน (GDP) ในปี 2567 อยู่ที่ 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (คาดการณ์ครั้งก่อนอยู่ที่ 5% เทียบกับปีก่อนหน้า)
อย่างไรก็ตามสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 ก.ค. 67 ลดลง 4.9 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 440.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 33,000 บาร์เรล