ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้อาจทรงตัวระดับต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 172 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้อาจทรงตัวระดับต่ำ หลังอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตต่ำคาด ขณะที่อุปทานยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง พร้อมจับตาเฟด เชื่อเริ่มทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมสัปดาห์นี้ คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16 ก.ย. – 20 ก.ย. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำหลังนักวิเคราะห์จากสถาบันต่างๆ เช่น Morgan Stanley, Gunvor Group Ltd., Trafigura Group และซิตี้กรุ๊ปปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ลงมาอยู่บริเวณกรอบ 60-75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันโลก ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงในจีนมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องหลังแตะระดับสูงสุดในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้โอเปกเองก็ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลก ปี 67 และ 68 เช่นกันภายหลังความต้องการใช้น้ำมันมีทิศทางเติบโตต่ำอย่างไรก็ตาม ตลาดคาดเฟดจะเริ่มทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปีในการประชุมสัปดาห์นี้ ซึ่งจะช่วยหนุนเศรษฐกิจและกระตุ้นความต้องการใช้น้ำมันได้

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ตลาดน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ธ.ค. 64 โดยล่าสุดบริษัท Morgan Stanley ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในไตรมาส 4/67 ลงมาอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่บริษัท Gunvor Group Ltd. และ Trafigura Group คาดการณ์ราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และซิตี้กรุ๊ปที่ระดับ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันโดยเฉพาะในจีนเติบโตต่ำ รวมถึงสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังชะลอตัว ขณะที่อุปทานจากประเทศกลุ่มผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกดดันราคาต่อเนื่อง
  • นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานตัวเลขอุปสงค์น้ำมันเชื้อเพลิงในจีนมีทิศทางปรับลดลงต่อเนื่องหลังแตะระดับสูงสุดในปี 66 ที่ผ่านมา โดยปรับลดต่อเนื่องปีละ 1.1% ในปี 2566-2568 และปรับลดลงปีละ 2.7% ในปี 2568-2573 จากความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงถูกแทนที่ด้วยพลังงานทางเลือก รวมถึงเศรษฐกิจของจีนยังคงอยู่ในสภาวะชะลอตัวกดดันความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ดี มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ช่วยลดแรงกดดันในระยะสั้นจากตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบเดือน ส.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือนจากการที่โรงกลั่นในประเทศเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์น้ำมันที่คาดว่าจะสูงขึ้นในช่วงเทศกาลที่จะถึงนี้
  • โอเปกเปิดเผยรายงานเดือน ก.ย. 67 ปรับลดคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 ลง 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวันเป็น 2.04 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 104.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ยังปรับลดคาดการณ์การเติบโตปี 2568 ลดลง 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวันมาที่ 1.73 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 105.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันโลก โดยเฉพาะจากจีนที่ถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
  • ตลาดจับตาการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 17-18 ก.ย. 67 หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเริ่มทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี โดยล่าสุด ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ส.ค. 67 ออกมาต่ำที่ระดับ 2.5% ส่งผลให้ตลาดคาดเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมสัปดาห์หน้า ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำลงจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและหนุนความต้องการใช้น้ำมันให้เพิ่มขึ้น
  • จับตาสถานการณ์การเลือกตั้งสหรัฐฯ เนื่องจากมีการประชันวิสัยทัศน์ระหว่างผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยนโยบายด้านพลังงานของแฮร์ริสมุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการลงทุนในพลังงานสะอาด ขณะที่ทรัมป์สนับสนุนการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เน้นการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในประเทศ สำหรับนโยบายการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งหากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตลาดคาดว่าอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นและกดดันราคาน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ผลสำรวจของ RealClear Politics สะท้อนว่ากมลาแฮร์ริสยังคงมีคะแนนนำอยู่ภายหลังการดีเบตครั้งนี้
  • ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีก เดือน ส.ค. 67 ยอดขายบ้านมือสองเดือน ส.ค. 67 และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. 67 เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดุลการค้า เดือน ก.ค. 67 ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ส.ค. 67 และดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจจากสถาบัน ZEW เดือน ก.ย. 67 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินกู้ลูกค้าชั้นดีของธนาคาร PBoC เดือน ก.ย. 67

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 68-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9 ก.ย.- 13 ก.ย. 67 พบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 72.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาได้รับแรงหนุนจากความกังวลเรื่องพายุเฮอร์ริเคนหลังองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐฯ (NOAA) รายงานพายุโซนร้อนฟรานซีนที่พัดขึ้นฝั่งบริเวณอ่าวเม็กซิโกรัฐฯ ได้ยกระดับเป็นพายุเฮอริเคน และบริษัทขุดเจาะน้ำมันต่างๆ เช่น Shell, ExxonMobil และ Chevron ได้หยุดดำเนินการส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ กว่า 0.73 ล้านบาร์เรลต่อวันต้องหยุดชะงักลงในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกในเดือน ก.ย. 67 ปรับลดลงราว 5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ก.ย. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 833,000 บาร์เรล สู่ระดับ 419.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 980,000 บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ขณะเดียวกัน คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียเดือน ก.ย. 67 มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น 1.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายหลังโรงกลั่นหลายแห่งในประเทศปิดซ่อมบำรุงในเดือน ก.ย. 67 ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในลิเบียมีแนวโน้มผ่อนคลายลง ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบลิเบียคาดว่าจะกลับมาผลิตและส่งออกได้มากขึ้น