ผู้ชมทั้งหมด 107
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงผันผวนจากความกังวลการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ท่ามกลางแผนการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมของกลุ่มโอเปกพลัส คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 18 – 24 เม.ย. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดกำลังเผชิญแรงกดดันจากนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะต่อประเทศจีน ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อแนวโน้มการค้าโลก ซึ่งล่าสุดองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการค้าโลกในปี 2568 ให้หดตัวลงร้อยละ 0.2 อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจและผลกระทบจากนโยบายภาษีดังกล่าว ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ และจีนต่างออกมาตรการภาษีตอบโต้ซึ่งอาจส่งผลให้จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ลดลง และทำให้สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกพลัสประกาศแผนปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่เกินโควตา ซึ่งคาดว่าจะช่วยรักษาเสถียรภาพของอุปทานในตลาดโลกได้ ขณะเดียวกัน ตลาดยังคงจับตาความเคลื่อนไหวทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นในจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- ตลาดกังวลผลกระทบจากนโยบายการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐฯ หลังนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามบังคับใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariffs) สำหรับทุกประเทศ โดยล่าสุดได้เพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจีนอยู่ที่ร้อยละ 145 จากก่อนหน้าที่ระดับร้อยละ 125 ขณะเดียวกัน จีนได้ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ตอบโต้อยู่ที่ระดับร้อยละ 125 ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่าการเพิ่มกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ต่อจีนจะส่งผลให้จีนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ลดน้อยลง ส่งผลให้สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น
- องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการค้าโลกปี 2568 ให้หดตัวลงร้อยละ 0.2 จากประมาณการเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือน ต.ค. 67 ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการค้าจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อีกทั้งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหนักที่สุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เนื่องจากความกังวลในภาคการค้าอาจสร้างแรงกดดันต่อทั้งตลาดการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าการค้าจะทยอยฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 2.5 ในปี 2569 แม้ว่ายังคงมีความเสี่ยงจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ระหว่างประเทศก็ตาม
- 7 ประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส (OPEC+) ประกอบด้วย อิรัก คาซัคสถาน คูเวต ซาอุดิอาระเบีย โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และรัสเซีย ได้ประกาศแผนการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มเติม เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่เกินโควตา จากเดิมที่ระดับ 0.189-0.435 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 0.196-0.520 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน มี.ค.68 – มิ.ย. 69 ทั้งนี้หากประเทศดังกล่าวดำเนินการตามแผนการปรับลดกำลังการผลิตได้อย่างครบถ้วน จะสามารถชดเชยกับกำลังการผลิตที่กลุ่มโอเปกพลัสมีแผนจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือน พ.ค.68 อยู่ที่ 0.411 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งส่งผลบวกต่อสมดุลของอุปทานตลาดน้ำมัน
- นอกจากนี้ ตลาดยังคงกังวลสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน โดยล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน โดยพุ่งเป้าไปยังโรงกลั่นน้ำมันของจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอิหร่านมากที่สุด โดยการคว่ำบาตรนี้มีขึ้น หลังสหรัฐฯ และอิหร่านกลับมาเจรจาอีกครั้งในประเด็นโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน
- ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ เดือน เม.ย.68 รวบรวมโดย S&P รายงานยอดขายบ้านใหม่ เดือน มี.ค. 68 ดัชนีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 68 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต เดือน เม.ย.68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ตัวเลขกำไรภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค.68
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11 – 17 เม.ย. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 4.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 64.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้น 4.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 68.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 11 เม.ย.68 ปรับเพิ่มขึ้น 0.52 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 442.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.51 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาความเคลื่อนไหวของสภาวะเศรษฐกิจ โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (NBS) เปิดเผยตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 1/68 อยู่ที่ระดับ 5.4 % สูงกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ 5.2% เช่นเดียวกับตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. 68 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3 % ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนถึงเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงก่อนหน้า
ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวไม่สะท้อนภาพเศรษฐกิจในอนาคต เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ระดับ 145% ขณะที่ตัวเลขยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ระดับ 1.4 % สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ที่ระดับ 1.3% อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าวอาจสูงกว่าปกติจากการที่ผู้บริโภคในสหรัฐฯ เลือกกักตุนสินค้าก่อนที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการภาษีนำเข้าแบบตอบโต้กับประเทศต่างๆ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา