ผู้ชมทั้งหมด 231
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงผันผวนหลังสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษี ท่ามกลางความกังวลความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 14 – 20 ก.พ. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวนอยู่ในระดับสูงเนื่องจากตลาดกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวจากสงครามการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการของสหรัฐฯ ในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 จากทุกประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับการค้าโลก นอกจากนี้ นักลงทุนยังคงจับตาทิศทางนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งอาจชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อันจะส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันในระยะยาว
อย่างไรก็ดี ตลาดคาดว่ามีความเป็นไปได้ในการเจรจายุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้มีมติคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ท่ามกลางความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่อาจมีแนวโน้มทวีความรุนแรง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
• ตลาดยังคงกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากสงครามการค้าที่เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตราร้อยละ 25 จากทุกประเทศ โดยมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการผลิตภายในประเทศ และดึงดูดงานมายังสหรัฐฯ มากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มี.ค. นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าทุกประเภทจากจีนในอัตราร้อยละ 10 ซึ่งจีนได้มีการตอบโต้กลับด้วยการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐฯ บางรายการในอัตราร้อยละ 10-15 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ส่วนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกในอัตราร้อยละ 25 ยังคงถูกระงับไว้และเลื่อนออกไป 1 เดือน อีกทั้งสหรัฐฯ ยังขู่ว่าจะใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมองว่ามาตรการทางภาษีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้ครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการนำประเทศคู่ค้าเข้าสู่การเจรจา ซึ่งเห็นได้จากกรณีการประกาศขึ้นอัตราภาษีสำหรับเม็กซิโกและแคนาดาถูกเลื่อนออกไปหลังสามารถเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
• ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 3.0 ในเดือน ม.ค. 68 มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าข้อมูลเงินเฟ้อยังคงแข็งแกร่งโดยยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในครึ่งปีแรก
• อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว หลังสหรัฐฯ มีมติคว่ำบาตรเรือบรรทุกน้ำมันที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งน้ำมันดิบจากอิหร่านไปยังจีน ซึ่งคาดการณ์ว่า จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านอาจลดลงครึ่งหนึ่งจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบทั้งหมด
• นักลงทุนคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่มีแนวโน้มกลับมาตึงเครียดมากขึ้น หลังจากเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของอิสราเอลประกาศเมื่อวันที่ 11 ก.พ. ว่า การหยุดยิงในฉนวนกาซาจะยุติลงหากกลุ่มฮามาสไม่ยอมปล่อยตัวประกัน 3 คน ในวันที่ 15 ก.พ. ตามแผนที่ตกลงกันไว้ และจะส่งกองกำลังป้องกันอิสราเอล (IDF) กลับไปต่อสู้เช่นกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีการบรรลุข้อตกลงการหยุดยิงระหว่างฮามาสและอิสราเอล เป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา
• ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ได้เจรจาหารือผ่านทางโทรศัพท์เกี่ยวกับการยุติสงครามในยูเครนกับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย และโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน ซึ่งเป็นการเจรจาทางการทูตครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรอบใหม่ โดยท่าทีของการเจรจานี้เป็นไปในทิศทางที่ดี โดยทรัมป์คาดหวังว่าจะสามารถบรรลุคำมั่นสัญญาที่จะยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหากสงครามดังกล่าวสิ้นสุดลง อาจนำไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของรัสเซียของสหรัฐฯ
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อเดือน ก.พ. 68 จาก S&P Global และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 68 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อเดือน ก.พ. 68 จากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB)
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 7 – 13 ก.พ. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 7 ก.พ. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 4.07 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 427.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาร์เรล
อีกทั้งตลาดกังวลผลกระทบจากการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าแคนาดา เม็กซิโก และจีน ที่อาจจะส่งผลให้เกิดสงครามการค้าระหว่างประเทศ ทำให้อุปสงค์น้ำมันดิบชะลอตัวลง และยังคงจับตาการให้คำมั่นสัญญาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสที่ 6 ก.พ. 68 ที่ผ่านมาว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงกังวลต่ออุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นหลังรัฐบาลรัสเซียเตรียมงดการส่งออกน้ำมันเบนซินในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันภายในประเทศ