ผู้ชมทั้งหมด 430
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดห์นี้มีแนวโน้มย่อตัวลง หลังอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 9 – 13 ต.ค. 66 พบว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มลดลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยอุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มในภูมิภาคแอฟริกาและอเมริกาใต้ นอกจากนี้การเตรียมกลับมาส่งออกน้ำมันดิบของท่อ Kirkuk-Ceyhan จะช่วยผ่อนคลายความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบตึงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากมุมมองของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขาแอตแลนตาและรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ซึ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีน ส่งสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจนในเดือน ก.ย.
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- อุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคแอฟริกามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังรายงาน FGE เผยว่าการส่งออกน้ำมันดิบของไนจีเรียจะปรับขึ้นสู่ระดับ 1.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. ซึ่งถือเป็นระดับสูงที่สุดในรอบปี ภายหลังการส่งออกน้ำมันดิบ Forcados มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้การส่งออกน้ำมันดิบจากแองโกลา ในเดือน พ.ย. มีแนวโน้มปรับขึ้นเช่นเดียวกัน โดย FGE คาดว่าการส่งออกจะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 1.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- อุปทานน้ำมันดิบในภูมิภาคอื่นมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยรายงาน FGE ฉบับล่าสุดคาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจากกายอานา มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ย. หลังโครงการ Payara Gold เริ่มเปิดดำเนินการ ขณะที่การผลิตน้ำมันดิบของคาซัคสถานปรับเพิ่มขึ้น 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 1.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. ภายหลังแหล่งขุดเจาะน้ำมันดิบ Tengiz สิ้นสุดการซ่อมบำรุงและกลับมาดำเนินการตามปกติ
- การส่งออกน้ำมันของอิรักจากท่อ Kirkuk-Ceyhan ซึ่งมีกำลังขนส่งน้ำมันดิบราว 450,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งน้ำมัน Kirkuk ในเขตปกครองตนเองเคอร์ดิสถานมายังท่าเรือ Ceyhan ซึ่งถูกระงับนับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค ที่ผ่านมา หลังศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินให้ตุรกีจ่ายค่าชดเชยให้กับอิรัก ใกล้ที่จะกลับมาดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้อิรักส่งออกน้ำมันดิบได้เพิ่มขึ้นและส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวน้อยลง
- 3/2566 จะเติบโตที่ระดับ 4.9% ซึ่งสูงกว่าไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปีนี้ ซึ่งมีการขยายตัวที่ระดับ 2.0 และ 2.1% ตามลำดับ นอกจากนี้เฟดยังคงคาดการณ์ว่าจีดีพีของสหรัฐฯ ในปี 2566 จะเติบโตที่ระดับ 2.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับทัศนะของนางเยแน๊ต เยเลน รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ซึ่งกล่าวในที่ประชุม Fortune CEO ในวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ภายหลังอัตราเงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง
- เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ภายหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) เปิดเผยว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PM) ในเดือน ก.ย. อยู่ที่ระดับ 50.2 สูงกว่าเดือนกว่าก่อนหน้าที่ระดับ 49.7 และถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน ขณะที่รายงานเดือน ต.ค. ของธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (Asia-Pacific region) จะเติบโตที่ระดับ 5% ในปีนี้ ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.1% นอกจากนี้รายงานดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 2 ของโลก จะเติบโตที่ระดับ 5.1% ซึ่งเท่ากับคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าและสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ระดับ 5.0%
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน ก.ย. และตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน ก.ย. ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค, ตัวเลขการนำเข้าและส่งออก และดัชนีราคาผู้ผลิต
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 80-87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 2 – 6 ต.ค. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 10.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 84.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 84.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายรัฐ ประกอบกับสต็อกน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 6.5 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2 ล้านบาร์เรล
นอกจากนี้ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ก.ย. 66 ซึ่งปรับตัวลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 414.1ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.4 ล้านบาร์เบล และถือเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ ธ.ค. 65