ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีอาจปรับขึ้น เหตุขัดแย้งในตะวันออกกลางมีต่อเนื่อง

ผู้ชมทั้งหมด 242 

ไทยออยล์ ชี้ ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงมีอย่างต่อเนื่อ และคาดการณ์อุปสงค์เติบโตน้ำมันดิบปรับเพิ่ม คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 17 – 21 มิ.ย. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางจากการเจรจายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 67 เพิ่มสูงขึ้นจากก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะที่ Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ในไตรมาส 3/67 นอกจากนี้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์อุปทานน้ำดิบสหรัฐฯ ปี 67 ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

– สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางยังเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน โดยนายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ากลุ่มฮามาสได้เสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ระบุในข้อเสนอการหยุดยิงกับอิสราเอล และพยายามที่จะปรับเงื่อนไขให้เหมือนกับที่กลุ่มฮามาสเคยให้การยอมรับในการเจรจาครั้งก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าสงครามในตะวันออกกลางจะยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุปทานน้ำมันในตลาดโลก แต่นักลงทุนมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวนั้นมีความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่ออุปทานน้ำมันได้หากการเจรจายังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง

– ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกปี 67 เป็น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันจากก่อนหน้าที่ 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สะท้อนความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ โอเปกยังคงคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตขึ้นจากการขยายตัวด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวสูงขึ้น

– อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังคงความไม่แน่นอน หลังล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% จากการประชุมเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 67 ที่ผ่านมา และคาดว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของปี 2567 อาจถูกเลื่อนออกไปเป็นในช่วงเดือน ธ.ค. 67 โดยเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% เพียง 1 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่ส่งสัญญาณว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้ง จากการประชุมเมื่อเดือน มี.ค. 67

– Morgan Stanley ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ ในไตรมาส 3/67 ลดลงมาอยู่ที่ 86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และในไตรมาส 4/67 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ระดับ 87.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลกสูงกว่าคาด และอุปทานจากกลุ่ม โอเปกพลัส มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ IEA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันของกลุ่มประเทศในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เดือน พ.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 2,841 ล้านบาร์เรล สูงสุดตั้งแต่ปี 2564

– ตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์อุปทานน้ำดิบสหรัฐฯ ปี 67 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 13.24 ล้านบาร์เรล ซึ่งนับเป็นค่าสูงสุดในประวัติการณ์ รวมไปถึงอุปทานน้ำมันดิบจากโอเปกพลัสที่มีแผนปรับเพิ่มกำลังการผลิตในไตรมาส 4/67 เป็นต้นไป

– ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนเดือน พ.ค. 67 ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดขายปลีก และอัตราการว่างงาน ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 67 ได้แก่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และยอดขายปลีก และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป เดือน พ.ค. 67 ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ และดัชนีราคาผู้บริโภค

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 10 – 14 มิ.ย. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 3.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 82.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.9% ในเดือน เม.ย. 67 แตะ 4% ในเดือนพ.ค. 67 โดยการจ้างงานนอกภาคการเกษตรปรับเพิ่มขึ้นกว่า 272,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณดีขึ้น

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นสูงที่สุดในรอบ 1 เดือนส่งผลทำให้ความต้องการซื้อขายน้ำมันดิบในสกุลเงินดอลลาร์มีความน่าสนใจน้อยลงเนื่องจากราคาที่แพงกว่าสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่น ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 7 มิ.ย. 67 เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล แตะที่ระดับ 459.7 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1 ล้านบาร์เรล