ผู้ชมทั้งหมด 531
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวน ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ขณะที่ตลาดจับตาการประชุมเฟด คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 83-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 86-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 3 พ.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนจากสงครามขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งเชิงกว้าง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับสูง ขณะที่ตลาดได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐฯและการจ้างงานที่ขยายตัวขึ้น หลังตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งจะเป็นตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ปรับขึ้นอยู่ที่ระดับ 4.9% อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันที่ 31 ต.ค. – 1 พ.ย. ซึ่งคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25 – 5.50% ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาในจีน ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันเช่นกัน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย อิสราเอลและกลุ่มฮามาสต่างโจมตีกันอย่างต่อเนื่อง หลังสัปดาห์ก่อนอิสราเอลเจรจาขอให้ปล่อยตัวประกันอีก 50 คน แต่กลุ่มฮามาสมีข้อแลกเปลี่ยนโดยขอลำเลียงน้ำมันเข้าฉนวนกาซา ด้านวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย ได้ออกมาเตือนว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสอาจลุกลามออกนอกภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งการทำสงครามจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย และหากอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศผู้มีบทบาทในการคุมเส้นทางการขนส่งน้ำมันในอ่าวเปอร์เซีย ตัดสินใจเข้าร่วมในสงครามและตอบโต้คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อการจำกัดเส้นทางขนส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งขนส่งน้ำมันคิดเป็น 15% ของอุปทานโลก สร้างความกังวลต่อราคาน้ำมันดิบและเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ใช่แหล่งผลิตน้ำมันดิบสำคัญของภูมิภาคก็ตาม
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.0 ในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคธุรกิจสหรัฐและการจ้างงานที่ขยายตัวขึ้น ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาสที่ 3/2566 ซึ่งจะเป็น ตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 อยู่ที่ระดับ 4.9% สะท้อนความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และบ่งบอกถึงความต้องการน้ำมันที่ฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี
- นักลงทุนจับตาการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงเป็นเวลานาน หลังภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและตลาดแรงงานที่ยังคงตึงตัวของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสนับสนุน ขณะเดียวกันดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ประจำเดือน ก.ย. ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี ส่งผลให้เฟดมีโอกาสในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมรอบเดือน พ.ย.
- นักวิเคราะห์เศรษฐกิจโดย Reuters คาดการณ์เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมาว่า ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคอินเดียในช่วงวันหยุดเทศกาลปลายปี 66 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 65 และคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะแตะระดับ 6.3% ในปีงบประมาณปัจจุบัน ขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าอินเดียจะมีส่วนในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในสัดส่วน 18% ภายในปี 2571 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ระดับ 16% เนื่องจากเศรษฐกิจอินเดียยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็ว
- สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Country Garden บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในจีนผิดนัดชำระหนี้จำนวน 15.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ หลังขอผ่อนผันชำระหนี้ 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 ก.ย. 66 กระทบต่อเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนและอาจเข้าสู่วิกฤติการเงินครั้งใหญ่ แม้ว่าแม้ว่ารัฐบาลจีนพยายามพลิกฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยปล่อยเงินกู้พิเศษให้แก่สถาบันการเงินและผู้รับเหมาหลายครั้ง เพื่อพยุงไม่ให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนทรุดหนักไปมากกว่านี้
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ต.ค. ของจีน
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 83-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 86-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 23 – 27 ต.ค. 66 พบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลง 3.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 1.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 90.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 89.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดได้รับแรงกดดันจากตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ต.ค. 66 ซึ่งปรับตัวสูงขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 421.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 0.2 ล้านบาร์เรล อีกทั้งหลังจากช่วงต้นสัปดาห์ผู้นำสหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการหยุดสงครามชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสกลับมารุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังอิสราเอลโจมตีทางตอนใต้ของฉนวนกาซา อีกทั้งอิสราเอลกำลังเตรียมการโจมตีภาคพื้นดินเพิ่มเติมในฉนวนกาซา ขณะที่ก่อนหน้านี้ผู้นำสหภาพยุโรปเรียกร้องให้มีการหยุดสงครามชั่วคราว เพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีแรงหนุนหลังจีนประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด โดยอนุมัติร่างกฎหมาย ให้ออกพันธบัตรรัฐบาล มูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (137 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ขณะที่อนุญาตให้มีการใช้โควตาสำหรับพันธบัตรรัฐบาลปี พ.ศ. 67 ล่วงหน้า เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการใหญ่ในประเทศ