ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวนระดับสูง ตลาดคาดโอเปกพลัสคงการผลิตถึงสิ้นปี

ผู้ชมทั้งหมด 492 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวนระดับสูง ตลาดคาดกลุ่มโอเปกพลัสคงการผลิตน้ำมันถึงสิ้นปี คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือTOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 1 – 5 เม.ย. 67 พบว่าราคาน้ำมันดิบยังคงมีแนวโน้มผันผวนในระดับสูง หลังสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางยังคงมีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) มีแนวโน้มคงนโยบายการผลิตน้ำมันจนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม การเจรจาสงบศึกชั่วคราวอาจส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบมีความน่าสนใจน้อยลง

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

 สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงมีแนวโน้มรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ทำให้เกิดความกังวลต่อเรื่องอุปทานน้ำมันในรัสเซีย ล่าสุดที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีนี้อยู่ที่ประมาณ 14% ของกำลังการผลิตทั้งหมด (ตามประมาณการจาก Reuters) ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ คาดกำลังการกลั่นอาจลดลงราว 900,000 บาร์เรลต่อวัน รวมทั้งอาจส่งผลต่อการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของรัสเซียด้วย และยังคาดว่าอาจใช้เวลานานหลายสัปดาห์กว่าที่โรงกลั่นบางแห่งจะสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง นอกจากนี้ยูเครนก็เกิดเหตุไฟฟ้าดับในหลายเมือง จากการที่ถูกรัสเซียโจมตีระบบสาธารณูปโภคเช่นกัน

 ตลาดคาดกลุ่มโอเปกพลัส (OPEC+) ยังคงนโยบายการผลิตน้ำมันก่อนที่จะถึงวันประชุมรัฐมนตรีกลุ่มพลังงานของโอเปกพลัสในเดือน มิ.ย. 67 เนื่องจากกลุ่มโอเปกพลัสตกลงที่จะขยายการลดกำลังการผลิตประมาณ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 67 แม้ว่ารัสเซียและอิรักต้องใช้ความพยายามเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับการผลิตส่วนเกิน ทั้งนี้กลุ่มโอเปกพลัสจะประชุมร่วมกันเบื้องต้นในวันที่ 3 เม.ย. 67 เพื่อทบทวนภาวะตลาดน้ำมันและประเมินการดำเนินการปรับลดกำลังการผลิตโดยรวม

 ตลาดจับตาการเจรจาข้อตกลงการสงบศึกชั่วคราวในสงครามตะวันออกกลาง โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ได้ลงมติเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในฉนวนกาซาโดยทันทีในช่วงเดือนรอมฎอนตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. 67 ถึง 10 เม.ย. 67 รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งมติดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุน 14 เสียง ขณะที่สหรัฐฯ งดออกเสียงและไม่ใช้สิทธิ์อำนาจยับยั้งมติดังกล่าว ทั้งนี้การหยุดยิงอาจช่วยบรรเทาปัญหาด้านการขนส่งในทะเลแดงได้ หากกลุ่มฮูตีอนุญาตให้ใช้เส้นทางการเดินเรือดังกล่าวเพื่อการขนส่งสินค้า

 ตลาดได้รับแรงกดดันหลังสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.05% ซึ่งสูงขึ้นเป็นครั้งที่สองติดต่อกันโดยแตะระดับ 104.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลทำให้น้ำมันดิบในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แพงขึ้นสำหรับผู้ถือสกุลเงินอื่นและทำให้ความน่าสนใจในการเข้าซื้อมีลดลง

 Kpler คาดโรงกลั่นน้ำมันในยุโรปมีความเสี่ยงที่จะปิดตัวลง ประมาณ 300-400 KBD เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับโรงกลั่น Dangote (650 KBD) ในไนจีเรีย ซึ่งคาดการณ์จะผลิตได้เต็มกำลังภายในครึ่งปีหลังนี้ โดยการปิดตัวลงอาจส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบลดลงได้

 ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขการส่งออก และตัวเลขการนำเข้า เดือน ก.พ. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ อัตราการว่างงาน และยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 67

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 82-92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 25 – 29 มี.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 83.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.05 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 87.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 86.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากกลุ่มกบฎฮูตียังคงโจมตีเรือบรรทุกสินค้าด้วยโดรนและขีปนาวุธในอ่าวเอเดนและทะเลแดงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลรัสเซียสั่งการให้บริษัทน้ำมันรัสเซีย ปรับลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตที่ไม่เกิน 9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งจะสอดคล้องกับคำมั่นสัญญาที่รัสเซียเคยให้ไว้กับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส)

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 22 มี.ค. 67 ปรับเพิ่มขึ้น 3.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 448.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล