ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัว ท่ามกลางสงครามที่มีอยู่และสัญญาณเฟดเริ่มลดดอกเบี้ย

ผู้ชมทั้งหมด 255 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัว ท่ามกลางสงครามที่มีอยู่และสัญญาณเฟดในการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์  ระหว่างวันที่ 15 – 19 ก.ค. 67 พบว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน รวมถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอเลาะห์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ราคายังได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ EIA คาดการณ์น้ำมันโลกขาดดุลในครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ ตลาดคาดเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน ก.ย. 67 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับภาวะเงินฝืดยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมัน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

 สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดต่อเนื่องจากการตอบโต้กันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ขณะที่ผลการเจรจาหยุดยิงรอบใหม่ที่กรุงไคโรยังคงไร้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยกลุ่มผู้นำฮามาสเปิดเผยว่า การโจมตีเมืองกาซาอย่างรุนแรงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจส่งผลให้การเจรจาหยุดยิงที่มีความคืบหน้าชะงักลง แม้ฮามาสได้รับรองเบื้องต้นต่อข้อเสนอหยุดยิงแบบเป็นขั้นตอนแล้วก็ตาม

 ขณะที่การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงตึงเครียด เนื่องจากการโจมตีของรัสเซียบริเวณกรุงเคียฟในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ด้านประธานาธิบดียูเครนกล่าวพร้อมตอบโต้ ส่งผลให้ตลาดกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของอุปทานน้ำมันดิบ ทั้งนี้ ตลาดยังคงจับตาผลการประชุมนาโตที่มีวาระสงครามยูเครนเป็นสำคัญ โดยล่าสุดสหรัฐฯ ได้ประกาศสนับสนุนระบบป้องกันภัยทางอากาศชุดใหม่ให้แก่ยูเครน

 ขณะเดียวกัน ประธานเฟดได้แถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาสหรัฐฯ และสภาผู้แทนราษฎรในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแสดงความพอใจต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ชะลอตัว พร้อมกล่าวว่าจะไม่รอจนกว่าเงินเฟ้อปรับตัวสู่เป้าหมาย 2% ถึงจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังตลาดแรงงานมีแนวโน้มชะลอตัวลง เพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดแรงงานและหลีกเลี่ยงการส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาดคาดว่าเฟดจะเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือน ก.ย. 67

 นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกเติบโตมากกว่าอุปทานน้ำดิบในช่วงครึ่งปีหลัง โดยรายงานสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เดือน ก.ค. 67 เผยคาดการณ์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งปีหลังจะขาดดุลกว่า 0.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่ามีการปรับคาดการณ์การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกปี 67 ในเดือน ก.ค. 67 ลดลงเล็กน้อยเป็นเติบโตที่ 1.11 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 102.91 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือลดลง 0.07ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้น้ำมันในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เติบโตน้อยลง นำโดยญี่ปุ่นที่ปรับลดกว่า 0.09 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับรายงานเดือนก่อนหน้า สวนทางกับกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาที่ปรับเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการปรับคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันปี 68 เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 104.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 0.17 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับรายงานเดือน มิ.ย. 67

 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับภาวะเงินฝืดยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมัน ภายหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน มิ.ย. ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.4% และชะลอตัวลงจากเดือน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้น 0.3% สะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่ฟื้นตัว ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน มิ.ย. 67 ยังคงติดลบที่ระดับ 0.8% แม้รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศก็ตาม ทั้งนี้ จีนถือเป็นผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ของโลก

 ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนียอดขายปลีกเดือน มิ.ย. 67 จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก และดัชนีภาคการผลิตจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 67 และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/67 และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน มิ.ย. 67

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 78-88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 80-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 8 – 12 ก.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.51 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 85.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 85.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดคลายกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว เนื่องจากพายุเฮอริเคนเบริลที่พัดเข้าบริเวณอ่าวเม็กซิโกไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตน้ำมันดิบหลักของสหรัฐฯ รวมไปถึงการเริ่มต้นเจรจาหารือเบื้องต้นระหว่างอิสราเอลและประเทศตัวกลางไกล่เกลี่ยเริ่มขึ้นอีกครั้ง สร้างความหวังต่อตลาดในความเป็นไปได้ในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและฮามาส

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในดินแดนเลบานอน และการโจมตีของรัสเซียในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมัน ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 5 ก.ค. 67 ลดลง 3.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 445.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล