ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ถูกกดดัน หลังตัวเลขเศรษฐกิจเอเชียยังคงอ่อนแอ

ผู้ชมทั้งหมด 579 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงถูกกดดัน จากตัวเลขเศรษฐกิจเอเชียที่ยังคงอ่อนแอ คาดเวสต์เท็กซัส จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 20 – 24 พ.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันเนื่องจากตลาดกังวลตัวเลขเศรษฐกิจเอเชียที่ออกมาไม่ดี ขณะที่ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงสนับสนุนจากการคาดการณ์ของ IEA และ OPEC เรื่องอุปสงค์น้ำมันที่ยังคงเติบโต รวมถึงอุปทานน้ำมันโลกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จากท่าทีของกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มการคงนโยบายลดกำลังการผลิต จนถึงสิ้นปี 66

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะกลุ่มเอเชียได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากตัวเลขการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 10 เดือนแรกของจีน ปรับลดลง 9.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความต้องการใช้น้ำมันในจีนและโลก ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ญี่ปุ่นไตรมาส 3/2566 หดตัวลง 2.1% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.6% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบปี 2566 จากการลงทุนและการบริโภคในประเทศลดลง
  • ความไม่แน่นอนของนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงส่งผลต่อราคาน้ำมัน โดยตลาดจับตาการประชุม ECB ที่จะมีวันที่ 29-30 พ.ย. 66 ที่คาดการณ์ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับสูงกว่า 4.0% ต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่ามีโอกาสมากกว่า 99% (ณ วันที่ 14 พ.ย. 66)ที่ FED จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%-5.5% เช่นกัน (เพิ่มขึ้นจาก 85.4% ณ วันที่ 9 พ.ย. 66) อย่างไรก็ตาม สัดส่วนนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่า FED จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางปี 67 มีเพียง 55% ลดลงจากผลสำรวจในเดือน ก.ย. ที่ 70%
  • สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสส่งผลต่อราคาน้ำมันลดลง หลังการโจมตีของอิสราเอลยังอยู่ในพื้นที่จำกัด และไม่กระทบกับการผลิตน้ำมันในพื้นที่ตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงยังคงมีต่อเนื่อง หลังล่าสุด (16 พ.ย.) อิสราเอลออกปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่โรงพยาบาลอัลชิฟาในฉนวนกาซา โดยอ้างว่าเป็นการโจมตีฐานทัพของกลุ่มฮามาสที่อยู่ในโรงพยาบาล
  • องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และโอเปก (OPEC) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันปี 2566 มาอยู่ที่ 2.36 และ 2.54 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ และปรับเพิ่มคาดการณ์ปี 2567 เพิ่มขึ้นเช่นกัน มาอยู่ที่ 0.93 และ 2.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของความต้องการใช้น้ำมัน ปี 2567 ปรับตัวลดลงจากปีนี้จากความกังวลเศรษฐกิจโลก
  • ตลาดจับตามองการประชุมกลุ่มโอเปกและพันธมิตร (OPEC+) ที่จะจัดขึ้นวันที่ 26 พ.ย. 66 ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ OPEC+ จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายการลดกำลังการผลิตน้ำมัน ขณะที่นักวิเคราห์จาก Energy Aspect คาดการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมาว่าซาอุดิอาระเบียอาจขยายการลดกำลังการผลิตส่วนเพิ่ม 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่อเนื่องจากปลายปีนี้ไปจนถึงสิ้นไตรมาส 1 หรือกลางปีหน้า
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 2566 และตัวเลขเศรษฐกิจของจีนได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกหนี้ชั้นดี ประเภท 5 ปี เดือน พ.ย. 2566

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 71-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 76-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 13 – 17 พ.ย. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับลดลง 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 80.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าเพิ่มขึ้น 0.33% สู่ระดับ 104.4 สอดคล้องกับการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้ตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 พ.ย. 66 ปรับเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 421.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 1.8 ล้านบาร์เรล