ผู้ชมทั้งหมด 312
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังคงถูกกดดัน จากกความกังวลเศรษฐกิจโลก ขณะที่สถานการณ์ในตะวันออกกลางผ่อนคลาย คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 ส.ค. – 23 ส.ค. 67 พบว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มยังคงถูกกดดันจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมัน หลังองค์กรหลักในตลาดน้ำมัน (IEA, OPEC) ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้ลง ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม มีความหวังมากขึ้นว่า FED อาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.5% เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงการเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยขณะที่ความไม่สงบในรัสเซียยูเครนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง หลังล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบหรือโอเปก (OPEC) ได้ปรับลดคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2567 จากการชะลอตัวด้านอุปสงค์น้ำมันจีนโดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยโอเปกคาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2.11 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2567 ซึ่งปรับลดลง 135,000 บาร์เรลต่อวันจากการคาดการณ์ในเดือน ก.ค. 2567
ขณะที่ IEA เผยรายงานฉบับเดือน ส.ค. 67 คาดตัวเลขเติบโตอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 67 ปรับลดอยู่ที่ระดับ 1.8% เทียบกับก่อนหน้าที่คาดว่าจะเติบโต 1.9% อย่างไรก็ดี อุปสงค์น้ำมันโลกปี 67 อยู่ที่ระดับ 103.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า ขณะที่อุปสงค์น้ำมันโลกปี 68 เพิ่มขึ้น 0.95 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ระดับ 104.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยลดลงจากการคาดครั้งก่อน 0.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน
สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางมีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังเจ้าหน้าที่อาวุธโสอิหร่านเปิดเผยว่าอิหร่านอาจไม่ตอบโต้การโจมตีของอิสราเอลที่การลอบสังหารผู้นำฮามาสหากอิสราเอลยอมรับข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาย Benjamin Netanyahu ได้มีการส่งผู้แทนเพื่อเข้าสู่การเจรจาหยุดยิงรอบใหม่ที่จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 ส.ค. 67 โดยมีตัวแทนจากสหรัฐฯ กาตาร์ และอียิปต์ เป็นคนกลางเจรจา ทั้งนี้ กาตาร์ยืนยันว่าตัวแทนจากกลุ่ม Hamas จะเข้าร่วมเจรจาในครั้งนี้
ตลาดยังคงจับตาท่าทีความไม่แน่นอนของนโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) หลังล่าสุดดัชนีผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CPI) เดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ระดับ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าที่ดาดไว้ที่ระดับ 3.0% โดยตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งตัวเลขที่สำคัญที่จะใช้ในการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ตัวเลข CPI อาจเพิ่มความหวังกระตุ้นให้ FED มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นการจ้างงานภายในสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อสงครามรัสเซียยูเครนยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศว่าจะตอบโต้กลับ หลังยูเครนบุกโจมตีเมืองเคิร์สก์ของรัสเซีย ทำให้ต้องมีการอพยพประชาชนกว่า 11,000 คน ขณะที่โรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมแซมจากเหตุโดรนของยูเครนโจมตีส่งผลให้การนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Crude Throughput) รัสเซียเดือน ม.ค. – ก.ค. 67 ปรับลด 0.9% เทียบปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี โรงกลั่นรัสเซียปิดซ่อมแซมและซ่อมบำรุงประจำปีในเดือน ก.ค. 67 ลดลง 44% เทียบเดือน มิ.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 2.5 ล้านตัน หรือประมาณ 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ และปัจจุบันเดือน ก.ค.67และเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. 67
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 72-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12 ส.ค.- 16 ส.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ว่าสหรัฐฯ เตรียมส่งเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนำวิถีไปยังพื้นที่ตะวันออกกลาง เพื่อเตรียมรับมือการโจมตีอิสราเอลโดยอิหร่านและพันธมิตร ทั้งนี้ หากมีการโจมตีเกิดขึ้น อาจทำให้สหรัฐฯ คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบส่งออกราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม สำนักสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (Office for National Statistics: ONS) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค. 67 อยู่ที่ 2.2% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และสูงสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ส.ค. 67 ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1.7 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 430.7 ล้านบาร์เรล ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 สัปดาห์และสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล