ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน-จับตาผลการประชุมกลุ่มโอเปก

ผู้ชมทั้งหมด 2,964 

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้ วันที่ 31 พ.ค. – มิ.ย. 64 จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงสนับสนุนจากความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นช่วงที่มีกิจกรรมการเดินทางมากที่สุดตลอดปีในช่วงฤดูการขับขี่ ซึ่งจะเริ่มขึ้นหลังวันหยุดยาว Memorial Day ในวันที่ 31 พ.ค. 64 โดยสมาคมรถยนต์แห่งอเมริกาคาดการณ์จำนวนผู้ใช้รถใช้ถนนในช่วงวันหยุด Memorial Day ปีนี้อยู่ที่ 37 ล้านคนเพิ่มขึ้น 60% จากปีก่อนหน้าและจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19

ขณะเดียวกันจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนจึงส่งผลให้มีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ตลาดยังคงได้รับแรงสนับหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 21 พ.ค. 64 ปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 484.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้การเดินทางระหว่างประเทศในประเทศสมาชิกกลุ่มสหภาพยุโรปมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นหลังรัฐสภายุโรปประกาศอนุมัติการใช้วัคซีนพาสปอร์ต (EU Digital COVID Certificate) สำหรับการเดินทางภายในประเทศกลุ่มสมาชิกได้โดยไม่ต้องกักตัวมีผลวันที่ 1 ก.ค. ส่งผลให้ยอดจองโรงแรมในยุโรปในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. 64 เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 60% ของยอดจองโรงแรมก่อนการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างไรก็ตามหลายประเทศในยุโรปเริ่มมีการผ่อนคลายการเดินทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วแม้ว่าการใช้วัคซีนพาสปอร์ตจะเริ่มมีผลใช้ในเดือน ก.ค. 64

ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเอเชียที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่น เวียดนามได้ประกาศขยายพื้นที่การใช้มาตรการล็อคดาวน์ในเขตพื้นที่ตอนเหนือของประเทศหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อ ในขณะที่รัฐบาลอินโดนีเซียขยายระยะเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบางพื้นที่จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 พ.ค. ไปเป็นวันที่ 14 มิ.ย. และเพิ่มพื้นที่การใช้มาตรการดังกล่าวอีกใน 4 จังหวัด

ตลาดยังคงจับตาการรื้อฟื้นข้อตกลงโครงการนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจ โดยประเทศที่เกี่ยวข้องในข้อตกลงนี้มีความพยายามเจรจาเพื่อหาทางออกของมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านโดยสหรัฐฯ แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปจากการจัดการประชุมหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ซึ่งจัดมาแล้ว 5 ครั้ง แต่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าข้อตกลงเกี่ยวประเด็นนี้จะได้ข้อสรุปก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีอิหร่านในช่วงเดือน มิ.ย. 64 ซึ่งอิหร่านมีแนวโน้มที่จะเพิ่มกำลังการผลิตราว 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวันถ้าหากสหรัฐฯประกาศยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน

นักลงทุนจับตาผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรในวันที่ 1 มิ.ย. 64 (OPEC and Non-OPEC Ministerial Meeting 17th) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมัน ติดตามการผลิตน้ำมันดิบของแต่ละประเทศตามข้อตกลงของกลุ่ม รวมถึงทบทวนข้อตกลงการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ได้มีมติร่วมกันเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 64 โดยภาพรวมปริมาณการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดยสุทธิยังคงน้อยกว่าระดับความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะฟื้นตัว จึงไม่ส่งผลกดดันต่อตลาดมากนัก

เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจีน เดือน พ.ค. 64 รายงานยอดขายปลีกยูโรโซน เดือน เม.ย.64 ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน เดือน พ.ค. 64 ดัชนีคาดการณ์ตัวเลขเปลี่ยนแปลงการจ้างงานและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 64