ผู้ชมทั้งหมด 687
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้ ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 4 มี.ค. 65 จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ตลาดกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการน้ำมันโลก ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทะลุเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 90-95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 96-101 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ล่าสุดเยอรมนีได้ระงับใบอนุญาติท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติ Nord Stream 2 จากรัสเซียไปยังเยอรมนี เพื่อตอบโต้รัสเซียแล้ว
อย่างไรก็ตามตลาดน้ำมันดิบยังได้แรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว เนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัส ยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ตามเป้า ขณะที่ตลาดคาดว่าการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในวันที่ 2 มี.ค. 2565 ทางกลุ่มจะเพิ่มกำลังการผลิตตามแผนเดิม หลังรัฐมนตรีจากกลุ่มประเทศอาหรับกล่าวว่ากลุ่มโอเปกพลัส ควรยึดแผนการผลิตตามข้อตกลงเดิมในการเพิ่มปริมาณการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวัน โดยปฏิเสธการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามข้อเรียกร้อง ล่าสุดการความร่วมมือในการลดกำลังการผลิต (OPEC+ Compliance) ในเดือน ม.ค. 2565 อยู่ที่ระดับ 129% เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. 64 ที่ 122%
ด้านรัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันดิบที่ระดับ 55-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นระดับที่เหมาะสม เพราะหากราคาน้ำมันดิบมีผลต่อราคาผลิตภัณฑ์อื่นๆ โดยหากราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงจนเกินไป อาจส่งต่อภาคเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่อาจชะลอตัว ทั้งนี้รัสเซียยังมีความสามารถในการเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลง เนื่องจากมีการลงทุนในโครงการใหม่ๆ เช่น Vostok Oil เพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่การเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีความคืบหน้าและได้ข้อสรุปมากขึ้น ทั้งนี้หากสามารถบรรลุข้อตกลงได้จะส่งผลให้อิหร่านสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันดิบโลกเพิ่มขึ้นราว 1% โดยล่าสุดหลายประเทศในเอเซีย อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เผยว่าพร้อมที่จะนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านได้ภายใน 2-3 เดือน หากมีการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร
ส่วนเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีนเดือน ก.พ. 65 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ดัชนีผู้บริโภค (Consumer Index) ของกลุ่มยูโรโซนเดือน ก.พ. 65 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า