ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้อาจผันผวน เหตุกังวลการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ -นโยบายกลุ่มโอเปกพลัส

ผู้ชมทั้งหมด 355 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวนจากความกังวลของการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ นโยบายของกลุ่มโอเปกพลัส ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านและรัสเซีย  คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 69-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 28 มี.ค. – 3 เม.ย. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนเนื่องจากตลาดกังวลความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มโอเปกพลัสที่เตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิต 138,000 บาร์เรลต่อวัน ที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย. 68 และได้ประกาศแผนลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการผลิตที่เกินกว่าระดับที่ตกลงกัน อีกทั้ง การเจรจายุติสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่ได้ข้อสรุป  ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจของจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เป็นอีกปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดน้ำมันในระยะนี้

อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อน้ำมันดิบอิหร่านที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งครอบคลุมถึงโรงกลั่นน้ำมันดิบขนาดเล็กในจีน และเรือขนส่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาน้ำมันดิบจากอิหร่านให้กับจีน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้  ประกอบด้วย

  • ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจากความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า ซึ่งมีความผันผวนอย่างมาก จึงเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลง โดยล่าสุด เมื่อวันพุธที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศเก็บภาษีศุลกากรสำหรับรถยนต์นำเข้าทุกคันในอัตราร้อยละ 25 โดยมาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 68 ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์สงครามการค้ารุนแรงขึ้นอีก
  • ตลาดจับตาดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัส ในการทยอยผ่อนคลายแผนปรับลดกำลังการผลิตแบบสมัครใจ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเม.ย. 68 โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตเดือนละ 138,000 บาร์เรลต่อวัน เป็นระยะเวลา 18 เดือน จนถึงเดือน ก.ย. 69 นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกพลัสได้ประกาศแผนใหม่ให้สมาชิก 7 ประเทศลดการผลิตเพิ่มเติมเพื่อชดเชยการผลิตที่เกินกว่าระดับที่ตกลงกัน โดยจะลดการผลิตน้ำมันในแต่ละเดือนระหว่าง 189,000 ถึง 435,000 บาร์เรลต่อวัน โดยแผนดังกล่าวจะมีผลตั้งแต่ เดือนมี.ค. 68 จนถึงเดือน มิ.ย. 69 ทั้งนี้ ตลาดยังคงต้องติดตามทิศทางการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 5 เม.ย. 68
  • ขณะที่ด้านการเจรจาหารือระหว่างสหรัฐฯและรัสเซียยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเนื่องจากล่าสุดคณะผู้แทนจากสหรัฐฯ และยูเครนจัดการเจรจาในซาอุดิอาระเบียเมื่อวันที่ 23 มี.ค. ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องข้อตกลงหยุดยิง เนื่องจากยังคงถกเถียงขอบเขตของข้อตกลงหยุดยิงบางส่วน โดยทั้งสองฝ่ายมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเงื่อนไขข้อตกลง ขณะเดียวกัน ในระหว่างการเจรจา สถานการณ์ในยูเครนยังคงตึงเครียดอย่างหนัก รัสเซียได้ใช้โดรนโจมตีทางอากาศกว่า 147 ลำ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของความขัดแย้งที่ยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลาย
  • เศรษฐกิจจีนยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดือน ม.ค – ก.พ. 68 ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา และปรับตัวลดลงติดต่อกันต่อเนื่องเป็นปีที่สาม สร้างความกดดันให้รัฐบาลต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นที่ระดับร้อยละ 20  
  • ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ มีการประกาศมาตรการคว่ำบาตรต่อน้ำมันดิบอิหร่านเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมาซึ่งรวมถึงโรงกลั่นน้ำมันดิบขนาดเล็กในจีนและเรือขนส่งที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาน้ำมันดิบจากอิหร่านให้กับจีน มาตรการนี้นับเป็นการคว่ำบาตรอิหร่านรอบที่ 4 ของสหรัฐฯ นับตั้งแต่เดือนก.พ.68 โดยทรัมป์ให้คำมั่นว่าจะบังคับใช้มาตรการกดดันสูงสุดต่ออิหร่านอีกครั้งและจะผลักดันการส่งออกน้ำมันของอิหร่านให้เหลือศูนย์ โดยตลาดคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านอาจปรับลดลงถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน หากสหรัฐฯ มีมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดขึ้น
  • ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนียอดการใช้จ่ายเพื่อการก่อสร้าง (Construction spending) เดือน ก.พ. 68 ตำแหน่งว่างงาน (JOLTS Job Openings) ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ทั่วโลกของ S&P ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CPI) เดือน มี.ค. 68 อัตราการว่างงานเดือน มี.ค. 68 ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือน ก.พ. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน มี.ค. 68

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 69-79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 21 – 27 มี.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 69.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 74.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าการเจรจาหยุดยิงนำโดยสหรัฐฯ ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่จะห้ามไม่ให้โจมตีในพื้นที่ทะเลดำ และโครงสร้างทางพลังงาน อาจทำให้มีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซีย ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบรัสเซียปรับเพิ่มได้ อีกทั้งตลาดยังคงกังวลผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากการขู่ขึ้นภาษีโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระดับ 25% ต่อประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบ และก๊าซจากเวเนซุเอลา โดยการขึ้นภาษีดังกล่าวคาดส่งผลให้โรงกลั่นในจีนบางแห่งที่ใช้น้ำมันดิบจากเวนเนซุเอลาหันไปจัดหาน้ำมันดิบจากแหล่งอื่น

อย่างไรก็ตาม สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มี.ค. 68 ปรับลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 433.6 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดราว 956,000 บาร์เรล