ผู้ชมทั้งหมด 25
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวในระดับต่ำ หลังตลาดลดความกังวลการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯคาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25 – 1 พ.ค. 68พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่าสงครามภาษีระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะไม่ยกระดับไปมากกว่าระดับปัจจุบัน ขณะที่สหรัฐฯ มีการเจรจากับผู้ประกอบกิจการค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศเพื่อหารือผลกระทบที่มีต่อราคาสินค้านำเข้า อย่างไรก็ดี IMF ปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 68 และ 69 ลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้า ขณะที่รัสเซียเสนอการเจรจาโดยตรงกับยูเครนเป็นครั้งแรก เพื่อหารือข้อตกลงยุติการโจมตีพลเรือน
นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศจีนไตรมาส 1/68 ลดลงแตะระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ กดดันเศรษฐกิจโลก

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- ตลาดคลายกังวลจากนโยบายการตั้งกำแพงภาษีสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลดความตึงเครียดลงหลังรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ นาย Scott Bessent กล่าวในที่ประชุมผู้ลงทุนแบบปิด ณ กรุง Washington ในสหรัฐฯ ว่าสงครามภาษีกับจีนจะไม่ยกระดับไปมากกว่าระดับปัจจุบัน และมีแนวโน้มอ่อนลงในอนาคตอันใกล้ แม้การเจรจาอย่างเป็นทางการจะยังไม่เริ่มต้น แต่คาดว่าจะมีการหารือระหว่างสหรัฐฯ และจีนในเร็วๆ นี้
- ขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ หารือกับบริษัทผู้ประกอบกิจการค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศ ณ วันที่ 22 เม.ย. 68 เพื่อหารือเกี่ยวกับความกังวลในอัตราภาษีสินค้านำเข้าซึ่งจะถูกผลักภาระสู่ผู้บริโภค เนื่องจากต้นทุนของสินค้าต่างประเทศสูงขึ้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างผ่อนผันแก่หลายประเทศให้เก็บอัตราขั้นต่ำที่ 10% ของมูลค่านำเข้า เป็นเวลา 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 68 อย่างไรก็ดี จีนถูกเก็บภาษีสินค้าส่วนใหญ่ที่ 145% และบางชนิดสูงสุดที่ 245% ของมูลค่านำเข้า ทั้งนี้ CNBC คาดการณ์เรือบรรทุกสินค้าจากจีนที่เตรียมเทียบท่าสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 3 พ.ค. 68 จะลดลง 6 เที่ยวเรือ มาอยุ่ที่ 16 เที่ยวเรือ และระหว่างวันที่ 4-10 พ.ค. 68 จะอยู่ที่ 12 เที่ยวเรือ และคาดว่าจะลดต่ำลงต่อเนื่อง จากอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์
- กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของโลกในปี 2568 และ 2569 มาอยู่ที่เติบโต 2.8% และ 3% เทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้าตามลำดับ โดยเป็นการเติบโตที่ลดน้อยลงจากเดิมคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในปี 2568 และ 2569 จากมาตรการภาษีตอบโต้ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ
ลดความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปที่ยังคงอยู่ในระดับสูงทำให้ภาคการเงินตึงตัว กดดันภาคการลงทุนชะลอตัวกว่าคาดการณ์ - ตลาดคลายความกังวลเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เนื่องจากวันที่ 21 เม.ย. 68 ประธานาธิบดีรัสเซีย นาย Vladimir Putin เสนอการเจรจาโดยตรงกับยูเครนเป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดสงคราม ขณะที่ประธานาธิบดียูเครน นาย Volodymyr Zelenskyy กล่าวว่าพร้อมหารือเพื่อยุติการโจมตีพลเรือน ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายอยู่ภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐฯ โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 68 นาย Marco Rubio รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์จะยุติบทบาทการเป็นคนกลางของสหรัฐฯ ในการเจรจาสันติภาพรัสเซียและยูเครนภายในไม่กี่วัน หากยังไม่มีสัญญาณความคืบหน้าในการบรรลุข้อตกลง
- เศรษฐกิจจีนยังคงมีแนวโน้มซบเซาเนื่องจากกระทรวงพานิชย์รายงานการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศจีน
ไตรมาส 1/68 ลดลง 10.8% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว อยู่ที่ระดับ 3.69 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นระดับที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จากนักลงทุนกังวลความเสี่ยงภาวะเงินฝืด สงครามการค้า และความไม่โปร่งใสของข้อมูล
งบดุลของบริษัทจีน - ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ยอดขายบ้าน
เดือน มี.ค. 68 อัตราการจ้างงาน เดือน มี.ค. 68 อัตราการลาออกจากงาน เดือน มี.ค. 68 อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1/68 ดัชนีราคารายจ่ายเพื่อการบริโภค เดือน มี.ค. 68 จำนวนคนยื่นขอสวัสดิการจ้างงาน เดือน เม.ย. 68 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขจีดีพี ไตรมาส 1/68 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมการผลิต เดือน เม.ย.68 อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 68 อัตราการว่างงาน เดือน มี.ค. 68 และดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน เม.ย. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม และไม่ใช่ภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 68
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 18 – 24 เม.ย. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 62.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 67.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 68 ผลสำรวจของ Reuters Poll ชี้มีโอกาส 45% ที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ภายใน 12 เดือน ซึ่งมีแนวโน้มทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากสหรัฐฯ เป็นผู้บริโภคปิโตรเลียมรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปี 2567 ขณะที่สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 เม.ย. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 0.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 443.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.8 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อผู้ประกอบการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันดิบของอิหร่าน โดยแม้ก่อนหน้านี้จะมีสัญญาณบวกเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเจรจาโครงการนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน แต่การที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน
นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของตลาดหุ้นโลกเนื่องจากที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ แสดงความเห็นในเชิงบวกว่า ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจเริ่มคลี่คลายลงในเร็ววันนี้ ซึ่งช่วยส่งเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาด