รัฐ-เอกชนตื่นตัวเปลี่ยนใช้รถ EV แทนน้ำมัน เปลี่ยนโฉมวงการโลจิกติกส์ไทยสู่ธุรกิจสีเขียว

ผู้ชมทั้งหมด 518 

เทรนด์รถ EV พุ่งต่อเนื่อง รัฐ-เอกชน ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ จ่อเปลี่ยนใช้แทนรถพลังงานน้ำมัน มั่นใจลดต้นทุนเชื้อเพลิงกว่า 68% เปลี่ยนแปลงวงการโลจิกติกส์ไทยสู่ต้นแบบธุรกิจสีเขียว พร้อมเคลมคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นายคณิสสร์ ศรีวชิระประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX  เปิดเผยว่า จากนโยบายของภาครัฐที่มีการสนับสนุนให้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งตอบโจทย์เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะรถ EV เป็นรถพลังงานสะอาดไม่สร้างมลพิษ ส่งผลให้กระแสการใช้รถ EV เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนส่ง-โลจิสติกส์ ที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการเปลี่ยนการใช้รถในการขนส่งสินค้าเป็นรถ EV แทนการใช้รถน้ำมัน ดังนั้นในอนาคตอันใกล้น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในภาคการขนส่งที่เปลี่ยนมาใช้รถ EV เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากนี้จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว จากข้อมูลของลูกค้าที่นำรถหัวลากไฟฟ้า NEX ไปใช้พบว่ายังช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงลงได้มากกว่าการใช้น้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซลถึง 68% อีกทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ถึง 585 ตันต่อปี

ขณะเดียวกันยังได้รับข้อมูลว่าหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งมีแผนในการปรับเปลี่ยนการใช้รถ EV แทนรถน้ำมัน เพื่อตอบสนองนโยบายและแผนในการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ตามเป้าหมาย ภายในปี ค.ศ.2050  อาทิ รถบัสโดยสารรับ-ส่งพนักงาน  รถตู้ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเปลี่ยนใน 2 ลักษณะ คือการซื้อขาดและการเช่าเหมาแบบรายเดือน ซึ่งขณะนี้ทางบริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด โดยเฉพาะการร่วมมือกับพันธมิตรในการเปิดโชว์รูมจัดจำหน่ายและให้บริการบำรุงรักษาแบบครบวงจรจำนวน 15 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2566  ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการใช้รถ EV ได้อย่างแน่นอน

ด้าน ผศ.ดร. มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน  วิทยาลัยโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน  มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) กล่าวว่า จากข้อมูลการศึกษาและวิเคราะห์การใช้รถยนต์ในภาคธุรกิจขนส่งพบว่าเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นสาเหตุของการก่อมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 ที่ขณะนี้กลับมาวิกฤตหนักกว่าเดิม ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Cabon Neutrality) ภายในปี 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2065 แนวทางการจัดการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย มองว่าแนวคิดกรีนโลจิสติกส์ถือเป็นทางเลือกสำคัญ เพราะเป็นกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับภาคธุรกิจ ทั้งในแง่การลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน และการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน

ขณะนี้ภาคธุรกิจต่างๆหันมาให้ความสำคัญเรื่องกรีนโลจิสติกส์มากขึ้น หลายบริษัทเริ่มตื่นตัวในการนำยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้ ทั้งรถบรรทุก EV รถหัวลาก EV รถโดยสาร EV ซึ่งไม่ใช่แค่กิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือ CSR เหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการนำมาสู่แนวคิดการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน การใช้รถ EV เป็นผลดีต่อการดำเนินธุรกิจ เพราะจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการขนส่งเริ่มทยอยเปลี่ยนมาใช้รถ EV ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการเปลี่ยนแปลงวงการโลจิส ติกส์ของไทย ที่จะนำไปสู่เป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร. มะโน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในการเปลี่ยนมาใช้รถ EV นั้น ผู้ประกอบการรถขนส่งยังสามารถยื่นขอการรับรองภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งคาร์บอนเครดิต ที่เกิดขึ้นจากโครงการ T-VER สามารถถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs) และนำไปซื้อขายในตลาดคาร์บอนต่อไปได้ ซึ่งตลาดคาร์บอนถูกกำหนดไว้ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593

โดยปัจจุบันมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอนเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 อยู่ในรูปแบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) ภายใต้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) โดยที่สถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2565 ราคาเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุดในปี 2566 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ  77 บาทต่อตัน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการขนส่งที่ปรับเปลี่ยนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นรถ EV จะหันมาจัดทำคาร์บอนเครดิตเพื่อสร้างรายได้ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป