ผู้ชมทั้งหมด 108
พื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area : OCA) เป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญด้านพลังงานของไทย ซึ่งกูรูด้านพลังงานต่างมองว่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนพลังงาน ช่วยชดเชยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของไทยได้ในอนาคต ที่สำคัญหากมีการลงทุนพัฒนาในพื้นที่ OCA ก็จะก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน การกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้พื้นที่ OCA ได้ลงนามรับรองบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร หรือ MOU 2544 ในช่วงที่ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะเจรจากับทางฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาอีกครั้ง หลังจากที่มีความพยายามจะเจรจามาหลายรัฐบาลแล้ว รวมทั้งรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee -JTC ) ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตามในรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ต้องลุ้นว่าจะสามารถดำเนินการเจราตามกรอบ MOU 2544 ได้หรือไม่ เพราะเริ่มมีกระแสคัดค้านให้ยกเลิก MOU ดังกล่าว เนื่องจากกังวลว่าจะมีการเอื้อประโยชน์กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และกังวลว่าหากมีการดำเนินการตามกรอบ MOU 2544 จะทำให้เสียดินแดนบางส่วนบนพื้นที่ทับซ้อนให้กัมพูชา ขณะเดียวกันก็มีนักวิชาการ อดีตข้าราชการพลังงานระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหลายรายออกมาสนับสนุนให้เร่งเดินการเจรจาพื้นที่ OCA ตามกรอบ MOU 2544 เพื่อที่จะได้พัฒนาแหล่งปิโตรเลียมมาใช้ประโยชน์ต่อไป
สำหรับแนวความคิดของกลุ่มที่สนับสนุนให้เดินหน้าเร่งเจรจาพื้นที่ OCA ตามกรอบ MOU 2544 เพื่อร่วมกันพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ประโยชน์นั้น ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลดำเนินการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนภายใต้กรอบ MOU 2544 เพราะเป็นกรอบที่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นการแบ่งเขตเส้นแดนต้องดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับการเจรจาใช้ประโยชน์แหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนร่วมกัน ซึ่งหากดำเนินการไปพร้อมกันจะช่วยลดความหวาดระแวงว่าจะไปเอื้อประโยชน์ให้ใคร ดังนั้นตนมองว่ากรอบ MOU 2544 เป็นกรอบที่ควรจะต้องเดินหน้าต่อ ซึ่งการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 นั้นตนมั่นใจว่าจะไม่ทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนเกาะกูด อย่างที่มีบางฝ่ายพยายามสร้างประเด็นขึ้นมา เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาไม่เคยอ้างกรรมสิทธิ์ในเกาะกูด และยอมรับอยู่แล้วว่า เกาะกูดเป็นของไทย ซึ่งมีผู้ประกอบการของไทยไปสร้างโรงแรมและรีสอร์ท จำนวนมากบริการนักท่องเที่ยว
ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการเจรจากับกัมพูชา เพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ OCA ซึ่งหากมีการพัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ OCA จะช่วยชดเชยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในช่วงที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยในแหล่งผลิตที่มีอยู่ปัจจุบันเริ่มลดลง
ทั้งนี้ความต้องการด้านพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติของประเทศเป็นที่ประจักษ์มา 5 ปี แล้วตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ไทยนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการนำเข้า LNG นั้นประเทศจะไม่ได้ค่าภาคหลวง และภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมรัฐจะมีรายได้จากค่าภาคหลวง ได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้หากย้อนดูสถิติในปี 2566 ประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 33% เป็นการนำเข้า LNG มีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการใช้ LNG แค่เพียง 5% เท่านั้น แต่หากมีการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนแล้วใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมก็จะช่วยชดเชยการนำเข้า LNG ได้เป็นอย่างดี
เสนอ 4 ข้อหนุนเดินหน้าเจรจาตามกรอบ MOU 44
นายนิพัฒน์สิน ยิ้มแย้ม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับการเจรจาพื้นที่ OCA นั้นตนสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการเจรจาตามกรอบ MOU 2544 โดยมีข้อเสนอ 4 ข้อ 1.ในการตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค JTC ไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทยจะต้องเลือกบุคคลที่จะมาเป็นประธานที่สาธารณะให้การยอมรับ และไว้วางใจ ว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นที่ตั้ง 2.คณะกรรมการและคณะทำงานที่เกี่ยวกับการเจรจาจะต้องมีความต่อเนื่อง ไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 3.รัฐบาลจะต้องมีความกล้าหาญที่จะทำให้เรื่องของการเจรจาไม่โยงกับการเมือง และ4.ทุกฝ่ายต้องมีความสามัคคีกันเป็นหนึ่งเดียว คำนึงเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ เป็นตัวตั้งไม่ใช่ของพรรคการเมือง พรรคใดพรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตามข้อเสนอแนะทั้ง 4 ข้อนั้นอาจจะมองว่าเป็นข้อเสนอที่เป็นอุดมคตินำไปปฏิบัติได้ยาก แต่หากทุกฝ่ายคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติก็เชื่อว่าจะนำไปปฏิบัติได้ เช่นเดียวกับกรณีพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ที่ทั้งสองประเทศ ต่างได้ประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเบียมที่ถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ ในส่วนของพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ตนในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมก็อยากจะเห็นนโยบายจากภาครัฐที่ให้การส่งเสริมบริษัทของคนไทยให้เข้าไปมีส่วนของซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับที่บริษัทของมาเลเซียได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
นายนิพัฒน์สิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ OCA จะเกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศอย่างมากในด้านพลังงาน และยังทำให้มีรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียมด้วย รวมถึงการจ้างงานและการลงทุนของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นซัพพลายเชน ซึ่งแตกต่างจากการนำเข้า LNG ที่ภาครัฐจะไม่ได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง โดยในโครงสร้างทางธรณีของพื้นที่ OCA ที่อยู่ในแอ่งปัตตานี เช่นเดียวกับแหล่งปิโตรเลียมสำคัญของฝั่งไทยทำให้มั่นใจว่าจะมีทรัพยากรก๊าซธรรมชาติอยู่มาก ขณะเดียวกันการหากมีการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมพื้นที่ OCA แล้วนำก๊าซธรรมชาติที่ได้ส่งเข้าระบบก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำลง ผู้บริโภคจะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติราคาถูกลง และได้ใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับต้นทุนเชื้อเพลิงที่เป็น LNG
เดินหน้า MOU 44 ไทยไม่เสียดินแดน
นายสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโสและที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการทหารสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หากมีการยกเลิก MOU 2544 รัฐบาลจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเห็นชอบให้ยกเลิกก่อน และถ้าคิดว่า MOU 2544 เป็นหนังสือสัญญาที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเขตแดนก็ต้องดำเนินการตามแนวทางของของศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องเสนอความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปผ่านความคิดเห็นของสภาฯ ก่อน หากมีมติให้ยกเลิกก็ต้องแจ้งไปยังรัฐบาลกัมพูชา เพื่อบอกยกเลิก หากรัฐบาลกัมพูชาคัดค้านการยกเลิก MOU รัฐบาลไทยก็ต้องเปิดการเจรจาเพื่อยกเลิก MOU ซึ่งตามกฎหมายระหว่างประเทศมีเวลาในการเจรจา 12 เดือน หากการเจรจาไม่สำเร็จภายใน 12 เดือนก็ต้องยื่นเรื่องไปยัง อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสิน หากอนุญาโตตุลาการฯ ตัดสินออกมาอย่างไรก็ให้เป็นไปตามคำสั่งของอนุญาโตตุลาการฯ
“ถ้ายกเลิก MOU 2544 มันก็จะมีข้อเสียตรงที่ว่าจะทำให้ต้องกลับไปสู่ปี 2513 กลับไป 50 กว่าปีที่จะต้องเริ่มเจรจากันใหม่ คำถาม คือว่าเราสามารถเริ่มเจรจากันใหม่ได้ง่ายหรือไม่ เขาจะยอมเจรจามั้ย ถ้าเขาไม่ยอมเจรจาเราคงต้องไปหาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับคนไทย”
อย่างไรก็ตามหากไม่มีการยกเลิก MOU 2544 การเดินหน้าเจรจาพื้นที่ OCA ก็สามารถทำได้ภายใต้กรอบ MOU 2544 โดยในกรอบ MOU 2544 มีกรอบการเจรจา 2 เรื่อง คือ 1.การแบ่งพื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 2.พื่นที่จะต้องแบ่งปันผลประโยชน์ แบ่งปันค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการพัฒนาทรัยากรธรรมชาติใต้ทะเลร่วมกันก็ต้องไปเจรจาว่าจะต้องดำเนินการร่วมกันอย่างไร ซึ่งอาจจะดำเนินการตามแนวทางที่เคยทำกับ มาเลเซียก็ได้ อย่างไรก็ตามหากจะเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 ก็อาจจะต้องมีการปรับปรุง MOU บ้างเล็กน้อย เพื่อให้กรอบ MOU 2544 มีความยืดหยุ่นกว่านี้ อันนี้เป็นโจทย์คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ
“กรณีที่มีคนบางกลุ่มบอกว่าหากยึดการเจรจาพื้นที่ COA ตามกรอบ MOU 2544 นั้นจะเสี่ยงต่อการเสียดินแดนนั้นตนมองว่าเป็นการตีความเกินเหตุ ในกฎหมายระหว่างประเทศคำว่ารับทราบ กับยอมรับ จะไปเปิดดิกชันนารี่มาตีความหมายไม่ได้ ต้องเปิดหลักกฎหมายมาตีความหมายถึงจะถูกต้อง ซึ่งกฎหมายระบุไว้แล้วชัดเจน MOU 2544 การดำเนินการตาม MOU จะไม่ทำให้ไทยเสียดินแดนเกาะกูด และผมคิดว่าทุกคนที่เป็นวิทยากรที่พูดเรื่องนี้เขาจะเข้าใจว่าทุกเส้น ทุกส่วนในทะเลสิทธิ์ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนเขตแดนทางบกเป็นอำนาจอธิปไตยชนกัน อำนาจทางทะเลไม่ได้ชนกัน สิทธิอธิปไตรก็ไม่ได้ชนกัน บางเอิญมันอ้างทับซ้อนกันทางทะเล ซึ่งที่กัมพูชาอ้างมันเป็นเขตไหล่ทวีป ไหล่ทวีป คือ พื้นที่ใต้ทะเลจะบอกว่าเสียอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะกูดได้อย่างไรมันเป็นคนละเรื่อง ซึ่งคนที่ออกมาพูดว่า MOU 2544 จะทำให้เสียเกาะกูดนั้นจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดได้”